EARTH บินด่วนลงใต้ ร่วมสำรวจ – เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม หลังชาว “ในช่อง” ขอแรงพิสูจน์ปมมลพิษบ่อขยะ (22 ต.ค. 61)

เรื่อง: กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ  
ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์ 
22 ตุลาคม 2561

EARTH บินด่วนลงใต้ ร่วมสำรวจ-เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม หลังชาว "ในช่อง" ขอแรงพิสูจน์ปมมลพิษบ่อขยะ


หลังชาว "บ้านในช่อง" ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่ ได้ร้องเรียนถึงปัญหามลพิษจากบ่อขยะของเทศบาลเมือง  มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้เดินทางไปร่วมสำรวจพื้นที่ พร้อมเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมนำส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

จากกรณีที่ประชาชนในพื้นที่ “บ้านในช่อง” หมู่ 1 ต.ทับปริก และ “บ้านทับไม้” ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ กว่าร้อยหลังคาเรือน ได้ร้องเรียนต่อหลายหน่วยงานถึงปัญหาผลกระทบจากจัดการขยะของ “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมเมืองกระบี่” ซึ่งตั้งอยู่ชิดติดกับชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ว่าได้ก่อปัญหากลิ่นเหม็น น้ำเสีย ซึ่งส่งผลทั้งต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนมาเป็นเวลานาน และทำให้พืชเศรษฐกิจของชุมชนได้รับความเสียหาย เช่น ยางพารายืนต้นตายกว่าร้อยต้น ขณะเดียวกันบ่อพักน้ำชะขยะก็ตั้งอยู่ติดกับสวนปาล์ม ทั้งนี้ ศูนย์กำจัดขยะฯ ดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ “บ้านในช่อง” หมู่ 1 ต.ทับปริก และ “บ้านทับไม้” ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ มีขนาดพื้นที่ 251 ไร่ เริ่มเปิดดำเนินการฝังกลบขยะเมื่อ พ.ศ. 2540 นับรวมอายุจนถึงปัจจุบัน (2561) กว่า 20 ปี รองรับขยะทั้งจากภายในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชนรวมถึงโรงแรมต่างๆ ขยะจากอ่าวนาง และขยะจากเกาะพีพี ทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยถูกส่งเข้ามายังศูนย์กำจัดขยะฯ แห่งนี้วันละไม่ต่ำกว่า 170 ตันจนไม่สามารถคัดแยกและฝังกลบได้ทัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 61 ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และทีมงาน ได้เดินทางมาร่วมการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวตามการร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวได้มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปลัดเทศบาลเมืองกระบี่และคณะ พ.อ.ฐากูร ยุทธภูมิภูวดล รอง ผอ.รมน.จ.กระบี่ และตัวแทนชุมชน เข้าร่วมด้วย 


โดยผลจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ศูนย์กำจัดขยะฯ มีพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต้นน้ำ และมีปัญหาทั้งหลายประการที่ยากต่อการควบคุม ทั้งบ่อขยะบ่อที่ 1 ซึ่งได้ปิดการฝังกลบขยะไปแล้วเมื่อปี 2550 แต่สภาพที่พบคือ บ่อฝังกลบขยะซึ่งมีลักษณะเป็นกองดินขนาดใหญ่และสูงเป็นภูเขานั้นเริ่มมีชิ้นขยะผุดโผล่ออกมาภายนอกให้เห็นอยู่ทั่วไป อีกทั้งน้ำไหลที่ซึมออกมาในหลายจุดทั่วขอบบ่อลงสู่ลำรางรอบบ่อนั้น บางจุดมีสีคล้ำและส่งกลิ่นเหม็น ส่วนบ่อฝังกลบที่ 2 ซึ่งยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบันนั้น เนื่องจากมีขยะที่ยังไม่ถูกฝังกองสูงเป็นภูเขา จึงส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก และเมื่อฝนตกลงมาก็เกิดน้ำไหลชะลงสู่ที่ต่ำโดยขาดระบบการรวบรวมน้ำชะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอรองรับ ทำให้มีโอกาสรั่วซึมออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกได้  ขณะที่ในส่วนของบ่อทิ้งสิ่งปฏิกูลก็พบว่าเป็นบ่อเปิด 




 

ในส่วนของระบบบำบัด น้ำทิ้งจากทั้งบ่อฝังกลบทั้งสองได้ถูกออกแบบให้ไหลไปรวมกันเพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งเป็นระบบบ่อปรับเสถียร (stabilization pond) จำนวน 4 บ่อ ซึ่งพบว่าระดับของน้ำเสียท่วมสูงกว่าระดับของพลาสติกที่ปูรองรับก้นบ่อ และจากคำบอกเล่าของประชาชนในพื้นที่ ในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมนองเต็มพื้นที่ ทำให้น้ำเสียในทั้ง 4 บ่อสามารถเจิ่งออกมาและรวมกันเป็นผืนน้ำใหญ่ และหากน้ำมากก็จะเอ่อล้นออกไปนอกพื้นที่ซึ่งรวมถึงหนองน้ำธรรมชาติและพื้นที่การเกษตรของประชาชนซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำกว่าพื้นที่ระบบบำบัด

ทั้งนี้ ประชาชนในชุมชนรอบบ่อขยะหลายรายได้ระบุตรงกันว่า ปัจจุบันบ่อน้ำผิวดินในพื้นที่ไม่สามารถนำมาอุปโภคบริโภคได้

"...ใช้ล้างห้องน้ำอย่างเดียว อาบน้ำประปา น้ำกินต้องสั่งซื้อเข้ามา แล้วก็ต้องซื้อของจากทางเหนือน้ำด้วย ของบริษัทแถวนี้ไม่กล้ากิน" ชาวชุมชนรายหนึ่งให้ข้อมูล





นอกจากปัญหาจากบ่อฝังกลบขยะโดยตรงแล้ว ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องตามมา ยังพบว่ามีสุนัขจรจัดจำนวนมาก ซึ่งประชาชนในพื้นที่ระบุว่า สุนัขเหล่านี้ถูกนำมาปล่อยทิ้งที่หลุมฝังกลบอยู่บ่อยครั้งจนปัจจุบันมีจำนวนหลายร้อยตัว รวมกลุ่มกันหากินในบ่อขยะ และในช่วงที่อดอยากก็จะเข้าไปทำร้ายสัตว์เลี้ยงในชุมชนเพื่อกินเป็นอาหาร เมื่อมีการร้องเรียนหลายหนก็พบว่าสุนัขดังกล่าวถูกวางยาเบื่อล้มตายในบ่อขยะจำนวนมากโดยไม่ทราบตัวผู้กระทำ ส่วนตัวที่หนีรอดบางส่วนที่เชื่องประชาชนในชุมชนได้ช่วยกันรับเลี้ยงดูด้วยความสงสาร แต่อีกส่วนหนึ่งได้หลบหนีเข้าไปอยู่ในสวนยาง หรือขึ้นไปรวมกลุ่มอาศัยอยู่บนภูเขาและลงมาหากินในช่วงที่ปลอดคน นอกจากนี้ยังมีนกกระยาง อีกา และนกชนิดอื่นๆ จำนวนมาก ที่เข้ามาหากินในกองขยะที่ยังไม่ได้ฝังกลบ และบินไปขับถ่ายมูลในชุมชน ซึ่งชาวชุมชนมองว่าเป็นปัญหาทั้งด้านความปลอดภัย สุขอนามัย และการทารุณสัตว์




 

สำหรับมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) นอกจากจะทำการสำรวจพื้นที่และรับฟังปัญหาจากประชาชนแล้ว เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 61 ทางทีมงานเทคนิคและวิชาการยังได้ทำการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์หามลสาร เพื่อประเมินเทียบเคียงกับผลการตรวจวิเคราะห์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจวัดไปก่อนหน้า ก่อนรวบรวมข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาจัดทำเป็นรายงานและข้อเสนอแนะให้แก่ชุมชนตามที่ประชาชนในพื้นที่ไดัร้องขอต่อไป