เหมืองโปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ

เหมืองโปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ

โครงการเหมืองแร่โปแตสที่ จ.ชัยภูมิ เริ่มต้นขึ้นอย่างเอิกเกริกยิ่งใหญ่ เพราะถือว่าเป็นการลงทุนร่วมกันของกลุ่มประเทศในอาเซียน ตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Projects) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนอย่างน้อยประเทศละ 1 โครงการ ประเทศไทยจึงเสนอโครงการนี้และได้รับการรับรองจากการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 22 เมื่อเดือนตุลาคม 2533 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

แม้จะถูกทักท้วงว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า แต่บริษัทร่วมทุนโปแตชอาเซียน จำกัด ซึ่งฝ่ายไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 71 เปอร์เซ็นต์ ยังคงเดินหน้าผลักดันการลงทุนมูลค่า 19,904 ล้านบาท เพื่อผลิตแร่โปแตส 1.1 ล้านตันต่อปี

แต่การขุดแร่โปแตสก็ดำเนินไปได้เพียง 4 ปี ใช้เงินไปกว่า 1,200 ล้านบาท โครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนแห่งนี้ก็มีอันต้องอับปาง เพราะกระทรวงการคลังไม่สนับสนุนการเงินอีก

นับจากปี 2543 เป็นต้นมา โครงการเหมืองแร่โปแตสอาเซียน ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด จนเหมืองที่ก่อสร้างไปได้ครึ่งๆ กลางๆ ถูกปล่อยร้างราวกับเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บเครื่องจักรที่ใช้ในการทำเหมือง

18 ธันวาคม 2555 รัฐบาลมีมติให้กระทรวงการคลังคัดเลือกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เหมาะสมมาลงทุนเพื่อสานต่อโครงการที่ปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 12 ปี โดยจะเร่งสานต่อโครงการนี้ที่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มมากขึ้นถึง 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2557-2559 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่โครงการจะฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง ผลกระทบจากการทำเหมืองเมื่อปี 2539 ก็เริ่มแผลงฤทธิ์ เพราะชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ทำเหมืองออกมาเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำเกลือที่ไหลนองออกมาท่วมพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านจนกลายเป็นทุ่งเกลือ 


กรณี: เหมืองโปแตสอาเซียน จ.ชัยภูมิ

สถานที่: พื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 6,700 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบลคือ บ้านตาล หัวทะเล บ้านเพชร และบ้านชวน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ

ความเสียหาย: ไร่นาของชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่เหมืองกลายเป็นทุ่งเกลือ ปัญหาดินเค็มเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้

เหตุการณ์: เหมืองแร่โปแตสในพื้นที่ 6,700 ไร่ครอบคลุม 4 ตำบลของ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ถือเป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่ เพราะเกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาข้อตกลงของกลุ่มประเทศอาเซียน ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนอย่างน้อย 1 โครงการ 

ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอโครงการเหมืองแร่โปแตสแห่งนี้ พร้อมกับดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนโปแตสอาเซียน จำกัด โดยประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 71 ที่เหลือเป็นประเทศอื่นๆ 

แม้จะถูกทักท้วงว่า การลงทุนโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า เพราะโปแตสที่ได้มีคุณภาพต่ำ สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับการประเมินของบริษัทที่ปรึกษาโครงการที่ยืนยันว่า โครงการมีความเหมาะสมในทุกๆ ด้าน สามารถขุดแร่โปแตสปีละ 6.2-7.5 ล้านต้น ผลิตปุ๋ยโปแตสได้ปีละ 1.1 ล้านตัน ตลอดระยะเวลา 20 ปี


ปี 2539 อุโมงค์ปล่องที่ 1 ยาว 935 เมตร ลึก 180 เมตร ก็ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และลงมือขุดได้เกลือหินประมาณ 100,000 ตัน แร่โปแตสประมาณ 120,000 ตัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท

แต่การขอกู้เงินอีก 350 ล้านเหรียญสหรัฐจาก OECF เพื่อใช้ขุดอุโมงค์ปล่องที่ 2 ขนถ่ายแร่สู่โรงงานผลิต กระทรวงการคลังก็ไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ให้ได้ เพราะติดเงื่อนไขในสถานภาพของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ทำให้โครงการนี้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจนต้องยุติการขุดแร่ในปี 2543 เพื่อหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ซึ่งบริษัทชิโน-ไทยโปแตช ของประเทศจีนได้เข้ามาร่วมลงทุนในเวลาต่อมา

18 ธันวาคม 2555 รัฐบาลมีมติให้กระทรวงการคลังคัดเลือกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เหมาะสมมาร่วมลงทุนเพื่อสานต่อโครงการที่ปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 12 ปี โดยจะเร่งสานต่อโครงการนี้ที่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มมากขึ้นถึง 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2557-2559

ความพยายามรื้อฟื้นโครงการโปแตสอาเซียนขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ทั้งนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) และนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องแร่ กล่าวสอดคล้องกันว่า สิ่งที่จะเกิดตามมาแน่นอนคือผลกระทบดินเค็มอีสานและการแย่งน้ำที่หนักหนากว่าปัญหานาเกลือกับนาข้าวในอดีตกว่า 10 เท่า เพราะจะกระทบพื้นที่เกษตรกรรมมหาศาล ซึ่งต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าต้องการให้ทิศทางการพัฒนาภาคอีสานเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเหมืองแร่

ขณะที่บริษัทเหมืองแร่โปแตสอาเซียนก็เดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน เพื่อทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการเหมืองแร่โปแตสอาเซียน โดยมี ผวจ.ชัยภูมิ เป็นประธาน

นายอภิชาติ สายะสิญจน์ รองกรรมการผู้จัดการสายปฏิบัติการ บริษัทเหมืองแร่โปแตสอาเซียน จก. (มหาชน) ระบุว่า บริษัทฯ ได้มอบหมายให้ บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ทำการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติม

จนถึงปี 2557 ยังไม่ชัดว่าการรื้อฟื้นโครงการเหมืองโปแตสอาเซียนจะมีความคืบหน้าอย่างไร แต่เสียงสะท้อนที่ดังขึ้นจาก นายสมาน มั่งกลาง ชาวนาจากบ้านโคกเพชร หมู่ 8 ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ดังขึ้นว่า
 
“หากบริษัทจะกลับมาฟื้นเหมืองแร่โปแตส อยากถามว่าจะป้องกันปัญหาผลกระทบน้ำเค็มดินเค็มอย่างไรเพราะที่ผ่านมากว่า 30 ปี เห็นเจาะเอาแร่เกลือขึ้นมาแล้ว ก็ไม่เห็นนำไปผลิตปุ๋ยหรือขาย เห็นแต่เอาไปถมทิ้งไว้ในบ่อจนกลายเป็นบ่อน้ำเกลือ 2-3 บ่อ แล้วผ้ายางหรือแผ่นพลาสติกที่จะปูรองก้นบ่อก็ไม่มี น้ำจึงซึมรั่วไหลเข้าที่ดินไร่นาชาวบ้าน ทำให้เป็นดินเค็มเต็มไปหมด”

(ข้อมูล ณ พ.ศ. 2557)



เอกสาร : “รัฐเดินหน้าฟื้นเหมืองโปแตช สั่ง “สุวิทย์” ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม”, ThaiNGO.org. เข้าถึงได้จาก http://www.thaingo.org/thaingo/taxonomy/term/196?page=3

    : “ชาวชัยภูมิโวยซากเหมืองโปแตชอาเซียนทำน้ำเกลือทะลักนาข้าว”, ผู้จัดการออนไลน์, 14 กรกฎาคม 2552. เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000079398

    : “โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ”, จับตา 7 เหมืองโปแตชในอีสาน, กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา, OKnation.net. เข้าถึงได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=32387

    : “อัคร “ยำ” 3 เหมืองโปแตซ...ผลประโยชน์ของใคร?”, ThaiNGO.org,12 ธันวาคม 2555. เข้าถึงได้จาก http://thaingo.org/thaingo/node/1903 

    : “บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด”, รศ.ดร.จุมพล วิเชียรศิลป์. เข้าถึงได้จาก http://gi.bru.ac.th/gis/dr/files/10local/1.pdf

    : “เปิดตำนาน เหมืองแร่โปแตชอาเซียน 16 ปีกับความหลอกลวงที่สูญเปล่า”. เข้าถึงได้จาก http://www.doohoon.com/smf/index.php?topic=38434.0;wap2
    
    : “เอ็นจีโอค้าน “โต้งฟื้นอาเซียนโปแตซ” หวั่นดินถล่ม-ดินเค็มอีสาน”, ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน, สำนักข่าวอิศรา, 1 ตุลาคม 2555. เข้าถึงได้จาก http://www.isranews.org/2012/community-news/กระแสชุมชน/item/16734เอ็นจีโอค้าน-“โต้งฟื้นอาเซียนโปแตซ”หวั่นดินถล่มดินเค็มอีสาน.html

    : โครงการเหมืองโปแตสอาเซียน, ดินและแร่ธาตุ, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2542-43, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 29-30

    : เหมืองโปแตชอาเซียน, ดินและแร่ธาตุ, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2544-45, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 16

    : การทำเหมือง, ดินและแร่ธาตุ, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2548, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 18