ท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าจะนะ

ท่อก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าจะนะ

โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียสร้างความขัดแย้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้อย่างรุนแรงและยาวนาน โดยเฉพาะชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา 
    
เมื่อรัฐบาลหนุนหลังบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่าง ปตท. แถมข้าราชการที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวข้องกับบริษัท ปตท. ทำให้การคัดค้านของชาวบ้านยิ่งหนักหนาสาหัส

แต่เหตุผลและประเด็นประกอบการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านในแต่ละย่างก้าว ก็เขย่าโครงการให้สั่นคลอนและเสียความชอบธรรมได้มหาศาล หนำซ้ำการทำประชาพิจารณ์เพื่อเดินหน้าโครงการ ทั้งที่เซ็นสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ก็สร้างความเสียหายและอับอายให้กับหน่วยงานของรัฐมากยิ่งขึ้น
    
ยิ่งไปกว่านั้น การเร่งผลักดันโครงการฯ ทั้งที่ชาวบ้านไม่เคยมีส่วนร่วมหรือรับรู้มาตั้งแต่ต้น นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจนตกเป็นข่าวไปทั่วโลก
    
แต่โครงการท่อก๊าซฯ ก็ไม่ใช่โครงการเดียวที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งครั้งสำคัญให้กับชาวบ้านจะนะ เพราะการเปิดประตูต้อนรับโครงการท่อก๊าซฯ ยังมีโครงการอื่นๆ พ่วงตามมาเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซจะนะ และโรงไฟฟ้าจะนะ ที่ไม่ต่างอะไรกับการตอกเสาเข็มเตรียมพร้อมไว้สำหรับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะตามมา


กรณี: ท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าจะนะ

สถานที่: ลานหอยเสียบ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา

ความเสียหาย: เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่อย่างรุนแรง อีกทั้งการสลายการชุมนุมก็ละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังนำไปสู่การฟ้องร้องซึ่งกันและกันตามมาระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้าน ขณะที่การเคลื่อนไหวคัดค้านก็ทำให้หลายคนบาดเจ็บ ถูกจับกุม และถูกข่มขู่คุกคามตามมา 

เหตุการณ์: โครงการท่อก๊าซฯ ไทย – มาเลเซีย ถูกเริ่มต้นท่ามกลางเสียงท้วงติงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ เพราะเกิดขึ้นเร็วเกินไป ซึ่งในช่วง 10 ปีแรกของการส่งก๊าซฯ พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซฯ แต่อย่างใด
    
อย่างไรก็ตาม โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียก็ถูกผลักดันให้เดินหน้าต่อ โดยเป็นโครงการที่ ปตท. ของไทยกับเปโตรนาส ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติของมาเลเซีย ร่วมกันคิดขึ้นมาเพื่อดำเนินการขนส่งและใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือที่เรียกย่อๆ ว่า เจดีเอ (Malaysia-Thailand Joint Development Area: JDA) ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในทะเลอ่าวไทยตอนล่าง 
    
จากการสำรวจคาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสูงเกือบ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่ากว่า 800,000 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท ดำเนินการในชื่อของบริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย จำกัด หรือทีทีเอ็ม
     
โดยจะวางท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลจากแหล่งเจดีเอมาขึ้นฝั่งที่บริเวณลานหอยเสียบ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา และวางท่อบนบกผ่านพื้นที่ อ.จะนะ นาหม่อม หาดใหญ่ และสะเดา ใน จ.สงขลา เพื่อเชื่อมต่อกับท่อก๊าซของมาเลเซียที่มีอยู่แล้ว รวมระยะทางการวางท่อบนบกในฝั่งไทยประมาณ 88.5 กิโลเมตร 
       
นอกจากนั้น ใกล้ๆ กับจุดที่ท่อก๊าซฯ ขึ้นบก ก็จะสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติจำนวน 2 โรง มีกำลังการผลิตโรงละ 425 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
       
ต้นปี 2541 กลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จ.สงขลา ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ แพทย์ นักกฎหมาย นักพัฒนา และชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มคัดค้านได้ติดตาม ทวงถาม และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้โดยเฉพาะ เริ่มสรุปชัดเจนแล้วว่า ควรยกเลิกโครงการนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นและเสียเปรียบมาเลเซียอย่างมาก 
       
ราวกลางปี 2541 งานมวลของโครงการท่อก๊าซฯ เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทั้งซื้อโฆษณาผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ พร้อมกับรุกเข้าหามวลชนในระดับท้องถิ่นอย่างเต็มพิกัด
       
ขณะที่กลุ่มคัดค้านโครงการก็เริ่มเดินหน้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและมาเลเซียทบทวนโครงการพร้อมข้อมูลและเหตุผลประกอบจำนวนมาก อีกทั้งยังเรียกร้องให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยมีแนวร่วมทั้งองค์กรและกลุ่มนักศึกษาร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านด้วย
       
ในที่สุด รัฐบาลโดย รมว.อุตสาหกรรมก็ตัดสินใจเปิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผ่านเวทีประชาพิจารณ์ โดยมี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ อดีตเลขาฯ สมช. เป็นประธาน มีคณะกรรมการ 10 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและอดีตข้าราชการตามที่ ปตท. เสนอ ที่สำคัญก็คือ ค่าใช้จ่ายในการทำประชาพิจารณ์ ปตท.เป็นผู้จ่ายให้
       
กลุ่มคัดค้านจึงยื่นหนังสือถึง รมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้ยกเลิกการประชาพิจารณ์ เพราะมีการเซ็นสัญญาผูกมัดโครงการไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ก็ไร้ผล ทำให้กลุ่มคัดค้านประกาศไม่เข้าร่วมการประชาพิจารณ์ และจะคัดค้านทุกรูปแบบ
       
1 เดือนก่อนถึงวันประชาพิจารณ์ ชาวบ้านในพื้นที่จะนะก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่ามีทหารลงพื้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ ซึ่งตัวแทนจากกองทัพบกยอมรับว่า บริษัททีทีเอ็ม เป็นผู้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่กองทัพบกเพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนต้องปฏิเสธภายหลังว่าเป็นภารกิจของ กอ.รมน. ไม่ใช่กองทัพบกแต่อย่างใด
       
ขณะเดียวกันกลุ่มหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา รวมทั้งประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ดาหน้าออกมาสนับสนุนโครงการท่อก๊าซฯ ถึงขั้นเดินทางเข้าพบ นายกฯ ชวน หลีกภัย และ รมว.อุตสาหกรรม เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจการค้าของไทยให้มากขึ้น
       
29 กรกฎาคม 2543 คือวันประชาพิจารณ์ แต่ต้องถูกยกเลิกกลางคันหลังจากห้องประชุมถูกยึดโดยกลุ่มคัดค้านโครงการ และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา บรรยากาศแห่งการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มสนับสนุนและคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ ก็เริ่มบานปลาย
       
21-22 ตุลาคม 2543 ประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ถูกกำหนดให้จัดขึ้นที่โรงยิมเนเซียมของเทศบาลนครหาดใหญ่ ท่ามกลางเสียงท้วงติงว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงจะถูกจุดชนวนจากการประชาพิจารณ์ แต่ก็ไม่อาจต้านทานได้ บรรยากาศของการเตรียมประชาพิจารณ์จึงเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ทั้งแท่งคอนกรีต และลวดหนาม ถูกนำมาใช้ปิดกั้นทางเข้า-ออกทุกประตู พร้อมวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มงวด ร้านทองในหาดใหญ่ 72 แห่งถูกร้องขอให้ปิดกิจการในวันดังกล่าว
       
แต่แล้วการประชาพิจารณ์ก็เริ่มได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง กลุ่มคัดค้านก็ทยอยบุกเข้ามาในที่ประชุม ทำให้ประธานฯ ใช้วิธีการง่ายๆ คือถามว่ามีผู้ใดคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ หรือไม่ เมื่อไม่มี ก็ถือว่าการประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นลง ขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านเข้าใจว่า สามารถล้มประชาพิจารณ์ได้อีกครั้ง 
       
เมื่อมาทราบภายหลังว่า คณะกรรมการประชาพิจารณ์สรุปว่าเห็นควรให้ดำเนินโครงการนี้ เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม ส่วนการคัดค้านนั้นเกิดจากคนกลุ่มน้อย และเป็นผลมาจากการขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์มากขึ้น ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ให้ความเห็นว่า บริษัททีทีเอ็มสามารถดำเนินโครงการได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ และการพิจารณาอนุมัติโครงการขึ้นกับ รมว.อุตสาหกรรมเพราะเป็นโครงการของเอกชน 
       
การประชาพิจารณ์ที่พิลึกพิลั่นจึงกลายเป็นอีกเงื่อนปมปัญหาที่สร้างความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
       
นอกจากนั้น การอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอโครงการท่อก๊าซฯ ของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.เมื่อ 29 กันยายน 2544 ทั้งๆ ที่คณะผู้ชำนาญการด้านสังคมยังไม่เห็นชอบ ก็ยิ่งทำให้โครงการท่อก๊าซฯ บิดเบี้ยวและสูญเสียความชอบธรรมเข้าไปอีก
       
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ไฟเขียวมาอย่างถูลู่ถูกกัง แต่โครงการท่อก๊าซฯ ก็ยังไม่อาจเดินหน้าได้ หนำซ้ำบรรยากาศความขัดแย้งก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทำให้ทั้ง ปตท. และทีทีเอ็มต่างออกมาเร่งรัดให้รัฐบาลรีบตัดสินใจ
     
10 พฤษภาคม 2545 สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้ออกแถลงการณ์ให้ดำเนินโครงการท่อก๊าซฯ ต่อไปตามสัญญา โดยขอให้ปรับเปลี่ยนจุดวางท่อขึ้นฝั่งในรัศมีไม่เกิน 5 กม.จากจุดเดิมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและชุมชน และให้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย     
        
มติดังกล่าวจึงไม่ต่างอะไรกับการสาดน้ำมันใส่กองไฟ เพราะไม่ว่าจะมีเสียงทักท้วงอย่างไร รัฐบาลก็ไม่ฟังอีกต่อไป จนกระทั่งรัฐบาลจะมีการประชุม ครม.สัญจรที่โรงแรมเจบีหาดใหญ่ ในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2545 กลุ่มผู้คัดค้านจึงเดินทางไปยังสถานที่จัดประชุมล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม และเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านด้วยความรุนแรง โดยมีเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน 12 คนถูกจับกุม และออกหมายจับตามมาอีกหลายคน ซึ่งการจู่โจมเข้าจับกุมตัวตามหมายจับด้วยวิธีการหลากหลาย ทั้งจู่โจมจับกลางตลาด ขับรถตามแล้วปาดหน้า ไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่ให้ญาติเยี่ยม ไม่ให้พบทนาย นำมาซึ่งการแถลงข่าวของผู้แทนพิเศษเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ว่าประเทศไทยยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก สอดคล้องกับการสรุปผลสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา นำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อ 16 มกราคม 2556 ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผิดและต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายคือกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้าน ขณะทีคดีแพ่งและคดีอาญายังไม่สิ้นสุด
     
ผลการคัดค้านทำให้ทั้งโครงการวางท่อก๊าซฯ และโรงแยกก๊าซฯ ต้องล่าช้าไปจากแผนที่วางไว้มาก เดิมทีเดียวนั้นมีกำหนดจะสร้างโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1 ในปี 2544 ก็ต้องเปลี่ยนมาสร้างในปี 2546 โดยการก่อสร้างต้องใช้กองกำลังผสมทหารและ ตชด. รวมประมาณ 400 คนคอยคุ้มกัน และต้องขยับโรงแยกก๊าซฯ ห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 800 เมตร เพราะชาวบ้านบางรายไม่ขายที่ดินให้ ซึ่งการตรวจสอบของชาวบ้านในเวลาต่อมา กลับพบว่าพื้นที่ก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ ที่ขยับมาใหม่นั้น บางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งที่ดินวะกัฟที่ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยนตามศาสนาอิสลาม และกลายเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ในเวลาต่อมา
     
ราวเดือนพฤษภาคม 2547 ก่อนท่อก๊าซฯ จะแล้วเสร็จไม่กี่เดือน (วางท่อก๊าซฯ เสร็จปลายปี 2547 เริ่มส่งก๊าซฯ ป้อนให้มาเลเซีย 15 กุมภาพันธ์ 2548) ชาวจะนะก็ได้ข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังหาซื้อที่ดินในพื้นที่ อ.จะนะ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ 
     
ต่อมาพื้นที่ 751 ไร่ ครอบคลุมหมู่ 1 ต.ป่าชิง และหมู่ 6 ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา อยู่ใกล้คลองนาทับ ซึ่งเป็นคลองสายหลักของ ต.นาทับ คือสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลาของ กฟผ. โดยเหตุผลในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของภาคใต้ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการวางท่อก๊าซฯ ไทย-มาเลเซีย 
    
แม้จะมีชาวบ้านคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลาแห่งนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงมากเท่ากับโครงการท่อก๊าซฯ โดยประเด็นที่ชาวบ้านวิตกกังวลมากที่สุดก็คือ การใช้ประโยชน์จากคลองนาทับ ซึ่ง กฟผ.ยืนยันว่าการปล่อยน้ำอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศานั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ 
    
15 กรกฎาคม 2551 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสงขลาก็เริ่มเดินเครื่อง พร้อมๆ กับมีโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าแห่งนี้ตามมา
เมื่อโครงการท่อก๊าซฯ และโรงแยกก๊าซฯ แล้วเสร็จ ตามด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสงขลาทั้งส่วนเริ่มต้นและส่วนต่อขยาย พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็ถึงเวลาต้องจับตาการเข้ามาของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ชาวบ้านวิตกกังวลมาตั้งแต่ต้น

(ข้อมูล ณ พ.ศ. 2557)

เอกสาร: โครงการท่อส่งก๊าซฯ และโรงแยกก๊าซฯ ไทย-มาเลเซีย, ผลกระทบและกรณีขัดแย้ง, พลังงานเชิงพาณิชย์, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2542-43, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 323-333

    : โครงการท่อส่งก๊าซฯ และโรงแยกก๊าซฯ ไทย-มาเลเซีย, ผลกระทบและกรณีขัดแย้ง, พลังงานเชิงพาณิชย์, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2544-45, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 311-317

    : โครงการท่อส่งก๊าซฯ และโรงแยกก๊าซฯ ไทย-มาเลเซีย, โครงการจัดหา-พัฒนาแหล่งพลังงานและปัญหา, พลังงานเชิงพาณิชย์, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2548, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 285-290
    
    : โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนสงขลา, โครงการพัฒนากับผลกระทบและกรณีขัดแย้ง, พลังงานเชิงพาณิชย์, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2548, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 314-316

    : “สู้ 10 ปี ‘คดีท่อก๊าซไทย-มาเลย์’ ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ‘สตช.’ ชดใช้ฐานละเมิด”, ประชาไท, 16 มกราคม 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.prachatai.com/journal/2013/01/44716