มลพิษที่ปลวกแดง
มลพิษที่ปลวกแดง
แม้ครั้งหนึ่ง ชาวบ้านปลวกแดงจะแสดงพลังคัดค้านโครงการขนาดยักษ์ ทั้งการก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะของบริษัทเจนโก้ และโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไทย-สิงคโปร์ 21 ที่จะมีขึ้นในพื้นที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ได้สำเร็จ
เหตุผลประการสำคัญที่สนับสนุนให้การแสดงพลังของชาวบ้านปลวกแดงมีน้ำหนักน่ารับฟัง นั่นคือ การเป็นพื้นที่ตั้งของแหล่งน้ำสำคัญของภาคตะวันออก นั่นคือ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ดังนั้นจะปล่อยให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของมลพิษจากอุตสาหกรรมไม่ได้อย่างเด็ดขาด
แต่เมื่อถูกรุกอย่างหนักจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ดาหน้ากันเข้ามาในระยะเวลาไร่เรี่ยกัน พื้นที่ปลวกแดงก็ยากที่จะหนีให้พ้นจากวงจรมลพิษอุตสาหกรรมจนแทบไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ปลวกแดงมากเป็นอันดับ 2 รองจาก อ.เมือง จ.ระยอง
กรณี: มลพิษที่ปลวกแดง จ.ระยอง
สถานที่: พื้นที่ทั้ง 6 ตำบลของ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
ความเสียหาย: เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในชุมชน แบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน-คัดค้านโครงการอุตสาหกรรม มีการลักลอบทิ้งขยะพิษบ่อยครั้ง ชาวบ้านเกรงว่าจะทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนมลพิษตามไปด้วย พื้นที่อยู่อาศัยถูกบุกประชิดด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งเสียงดังและกลิ่นเหม็นกลายเป็นปัญหาที่รบกวนชีวิตประจำวัน การบังคับใช้กฎหมายไร้ประสิทธิภาพ
เหตุการณ์: พลังของชาวบ้านปลวกแดง จ.ระยอง ถูกทดสอบความแข็งแกร่งครั้งแรกในปี 2538 เมื่อบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ เจนโก้ ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อกำจัดกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมแล้วพบว่า พื้นที่บ้านเขากระทะ เขาระฆัง ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่ฝังกลบขยะอุตสาหกรรม เนื่องจากมีสภาพทางธรณีวิทยาที่เหมาะสม อีกทั้งที่ดินไม่เหมาะกับการเกษตรกรรม สถานที่ก็มีความสะดวกในการเดินทางขนส่ง
แต่ความเหมาะสมของสถานที่เพียงอย่างเดียว ก็ไม่อาจฝ่าด่านการคัดค้านของชาวบ้านได้ ธีรวัจน์ นามดวง ชาวบ้านปลวกแดง กล่าวว่า “ ที่นี่เป็นพื้นที่ซึ่งถูกเลือกโดยกระทรวงอุสาหกรรมเพื่อตั้งโรงงานกำจัดขยะจากอุตสาหกรรมหนักต่างๆ ในพื้นที่ขนาดเท่ากับสองสนามฟุตบอลด้วยเงินลงทุนกว่า 1,400 ล้านบาท แต่เนื่องจากตั้งอยู่เหนือลมชาวบ้านจึงลุกฮือขึ้นคัดค้านเพราะหวาดกลัวถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน ทั้งกลิ่นเหม็นและน้ำเสียที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ
เมื่อชาวบ้านผนึกกำลังคัดค้านอย่างเข้มแข็งร่วมกับนักวิชาการ นักศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน ทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการปัญหาขัดแย้ง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้สรุปผลการศึกษาสภาพพื้นที่ อ.ปลวกแดงว่า เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับทำการเกษตร และเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญ
“ขยะจากที่ไหนให้เอาไปทิ้งที่นั่น” คือการตัดสินใจของชาวบ้านปลวกแดงในครั้งนั้น ซึ่งท้ายที่สุด เจนโก้จึงต้องกลับไปเบียดบังใช้พื้นที่ 62 ไร่ ซึ่งเป็นแนวกันชนระหว่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับโรงพยาบาลมาบตาพุด เป็นสถานที่ก่อสร้างแทน
หลังจากนั้นไม่นาน บริษัท อิสเทิร์นอินดัสเตรียล ซิตี้ จำกัด ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัทเคเค-เจทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ก็มีแผนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไทย-สิงคโปร์ 21 ในพื้นที่ อ.ปลวกแดง ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลของกลุ่มบริษัทน้ำตาลตะวันออก
6 มกราคม 2542 พิธีลงนามสัญญาร่วมดำเนินงานโครงการนี้ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทเคเค-เจทีซีไอ มีขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางชาวบ้านปลวกแดงที่เดินทางมาขอเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี กร ทัพพะรังสี ซึ่งเป็นประธานในพิธีดังกล่าว เพื่อชี้แจงถึงความไม่เหมาะสมของโครงการ แต่ถูกปฏิเสธ
นับจากนั้นเป็นต้นมา การเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการ ซึ่งก็คือบรรดากลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการภายใต้ชื่อ สภาเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรรักษาสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก (สกรอ.) ก็เป็นไปอย่างเข้มข้น
เหตุผลการคัดค้านของชาวบ้านก็คือ ทำเลที่ตั้งของโครงการถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญมากของภาคตะวันออก โดยเป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก และมีความสำคัญอย่างมากต่อการประกอบอาชีพประมง อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา พร้อมกับเปิดเผยแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ระยะที่ 2 เพื่อรองรับการขยายพื้นที่โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)
โดยรายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่า เขต จ.ระยอง มีขีดความสามารถในการรองรับมลสารได้ในระดับต่ำ โดยเฉพาะ อ.ปลวกแดง ที่ในปัจจุบันมีนิคมฯ และเขตประกอบการอุตสาหกรรมถึง 4 แห่งอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก ที่สำคัญรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุชัดเจนด้วยว่า ทั้ง อ.ปลวกแดง และ อ.เมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ควรที่จะต้องลดขนาดพื้นที่อุตสาหกรรมลง เพื่อให้เหมาะสมกับขีดความสามารถในการรองรับมลสารในบรรยากาศและมลพิษของแม่น้ำระยอง
ขณะที่ชาวบ้านปลวกแดงยังคงคัดค้านโครงการฯ อย่างไม่ลดระ ราวปลายปี 2542 การปรับไถพื้นที่โครงการกว่า 9,000 ไร่ ต้องหยุดชะงักลง ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับการคัดค้านของชาวบ้าน ทำให้โครงการฯ ต้องยุติลง
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมไทย-สิงคโปร์ 21 ซึ่งวางโครงการไว้ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มูลค่าการลงทุนกว่า 28,000 ล้านบาท บนเนื้อที่กว่า 9,000 ไร่ใน อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ระยะ ใช้เวลา 20 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้ชาวบ้านปลวกแดงจะคัดค้านทั้งโครงการก่อสร้างหลุมฝังกลบขยะอุตสาหกรรมของเจนโก้ และโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย-สิงคโปร์ 21 จนประสบความสำเร็จ แต่เมื่อถึงวันที่พื้นที่มาบตาพุดหนาแน่นเกินกว่าจะขยับขยายตัวได้อีกต่อไป การพัฒนาอุตสาหกรรมจึงมุ่งหน้าสู่พื้นที่ทางตอนเหนือของ จ.ระยอง ทันที
แน่นอนว่า อ.ปลวกแดง ก็หนีไม่พ้น เพราะถูกจู่โจมด้วยโรงงานอุตสาหกรรมจนขยับขึ้นรั้งตำแหน่งที่ 2 จากทั้งหมด 8 อำเภอใน จ.ระยอง ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด เป็นรองก็แค่ อ.เมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
ข้อมูลของสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ระบุว่าจนถึงปี 2555 พื้นที่ อ.ปลวกแดงมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 457 แห่ง มีคนงานถึง 58,316 คน มีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 295,648,527,679.74 บาท
ในบรรดาโรงงานทั้ง 457 แห่งของ อ.ปลวกแดงนั้น กระจายกันอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด เขตประกอบการอุตสาหกรรมอีก 2 แห่งคือ เขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลปาร์ค และ เขตประกอบการอุตสาหกรรมจี.เค.แลนด์
ว่าไปแล้ว การรุกเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ใช่ว่าชาวปลวกแดงจะยินดีต้อนรับ เพราะชาวบ้านยังคงลุกขึ้นคัดค้านอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำผังเมืองรวม จ.ระยอง เมื่อปี 2549 โดยรวมเอาพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ที่เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวระยอง ให้กลายเป็นสีม่วง เพื่อรองรับอุตสาหกรรม ทำให้ 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดูแล 17 หมู่บ้านในพื้นที่ อ.ปลวกแดง ลุกขึ้นมาคัดค้าน เพราะเกรงว่าจะทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
ปี 2551 ทันทีที่รู้ข่าวว่า บริษัทอมตะเพาเวอร์ จำกัด จะมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชาวบ้านปลวกแดง และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก รวมประมาณ 200 คน ก็ลุกขึ้นมาคัดค้านทันที เพราะเกรงว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านจำนวน 2,000 คนจาก 3 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร
ขณะเดียวกันนายไพฑูรย์ ไพศาลสุขวิทยา ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริษัท อมตะ เพาเวอร์ จำกัด ชี้แจงว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2553 ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำ 30 ตัน/ช.ม. โดยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติจากระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.จำกัด เป็นเชื้อเพลิงหลัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ 30 ไร่ ม.6 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง คาดว่าจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2557 ส่วนหนึ่งขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นอกจากนี้จะมีการตั้งกองทุนจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนรอบโรงงานไฟฟ้า
ปี 2552 ชาวปลวกแดงจาก 7 หมู่บ้าน กว่า 300 คน ต้องลุกขึ้นมาคัดค้านโรงงานถลุงเหล็กที่จะเข้ามาก่อสร้างในพื้นที่ ม.5 ต.แม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
ซึ่งกว่าชาวบ้านจะรู้ว่าบริษัท AISCO จะมาก่อสร้างโรงถลุงหลอมเหลวเหล็ก และผลิตเหล็กแท่ง รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ก็ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและยืนยันว่าไม่มีการแจ้งให้ชาวบ้านรับรู้ข่าวสารล่วงหน้า อีกทั้งไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน
นายวิรัตน์ มีทรัพย์ทอง ประธานชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมตำบลแม่น้ำคู้ กล่าวว่า พื้นที่โดยรอบที่จะใช้ตั้งโรงงานถลุงเหล็ก เป็นที่การเกษตรทำไร่สับปะรด ไร่มันสำปะหลัง สวนยางพารา และอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเส้นเลือดใหญ่ของชาวระยองอยู่คนละฝั่งถนน และไม่ห่างอ่างเก็บน้ำดอกกราย อีกทั้งอยู่ห่างจากวัดและโรงเรียนบ้านหนองมะปริงเพียง 400 เมตร อยู่ห่างชุมชนหนองมะปริงเพียง 200 เมตร เกรงจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ซึ่งนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ระบุว่าการที่จะมาสร้างโรงงานถลุงเหล็ก บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ และเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาด้วยแล้ว ชาวบ้านไม่ยอมให้สร้างแน่นอน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.แม่น้ำคู้แห่งนี้อยู่ห่างชายทะเล ไม่มีลมทะเลพัดผ่าน อาจทำให้เกิดบรรยากาศลมแปรปรวนทางอากาศ โรงงานถลุงเหล็กมีฝุ่นละอองจำนวนมาก โดยเฉพาะถ่านหิน สารปรอท และโลหะหนัก ชาวบ้านจึงต้องออกมาเรียกร้องและยื่นหนังสือคัดค้านให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม
แต่ถึงที่สุดแล้ว ชาวปลวกแดงก็ตกอยู่ในวงล้อมของอุตสาหกรรม และมีชะตากรรมที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาวบ้านในพื้นทีอื่นๆ ของ จ.ระยอง ที่ถูกเล่นงานจากมลพิษอุตสาหกรรมกันอย่างถ้วนหน้า
มิถุนายน 2555 นายอรุณ จำรูญสวัสดิ์ ชาวบ้านจาก ม.4 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ถึงกับชูคำสั่งศาลปกครองระยองลงวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมาให้ดูและกล่าวว่า ศาลปกครองระยองมีคำสั่งให้ บริษัท ฮัตเคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท วีวาล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 610/2 หมู่ 1 ต.ปลวกแดง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตท่อพลาสติกชนิดอ่อนและแข็ง ส่วนโรงงาน วีวาล ผลิตยางคอมพาวด์ ระงับการประกอบกิจการโรงงานไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมาย หรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตั้งแต่วันรับทราบคำสั่ง โดยให้อุตสาหกรรม จ.ระยอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปลวกแดง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ดำเนินการตรวจสอบ แล้วรายงานให้ศาลทราบภายใน 7 วัน แต่โรงงานดังกล่าวยังคงเดินเครื่องจักรตามปกติ บางวันเดินเครื่องจักรในเวลากลางคืน
นายอรุณ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยชาวบ้านที่อยู่ติดรั้วโรงงานดังกล่าวได้รับผลกระทบจากโรงงานทั้ง 2 แห่ง จากน้ำเสียของโรงงานที่ปล่อยลงในพื้นที่ชาวบ้านรวมทั้งเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นมานานหลายปีทนไม่ไหวเกรงลูกสาวอายุเพียงแค่ 3 เดือนเศษ จะได้รับมลพิษจึงต้องนำลูกสาววัย 3 เดือนเศษไปฝากแม่ยายเลี้ยงอยู่ต่างจังหวัด ส่วนลูกชายอีกคนเรียนหนังสืออยู่ที่นี่ จะย้ายไปเรียนที่อื่นก็คงจะลำบากจึงต้องทนให้เรียนอยู่ที่เดิม หากโรงงานมีการแก้ไขปรับปรุงไม่มีผลกระทบต่อชุมชนแล้ว ก็จะไปรับลูกสาวกลับมาอยู่ด้วยกันที่บ้าน ตนคิดถึงลูกสาวทุกวันโทรศัพท์ไปสอบถามญาติด้วยความเป็นห่วง หลังจากนั้นได้ร้องเรียนไปที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปลวกแดง เข้าตรวจสอบสั่งให้โรงงานดำเนินการแก้ไข แต่โรงงานก็ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด จากนั้นต่อมา สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ได้รับหนังสือจาก อบต.ปลวกแดงให้เข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายปิตินันต์ อักษร วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ได้เข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่าว และพบว่าไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการทั้ง 2 แห่ง จึงได้ดำเนินการตั้งข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเปรียบเทียบปรับ ขณะเดียวกันทางโรงงานได้ยื่นคำร้องขออนุญาตตั้งโรงงาน แต่ทางชาวบ้านเข้าชื่อคัดค้านการตั้งโรงงาน เนื่องจากโรงงานทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ในชุมชนหนาแน่น
นายอรุณ กล่าวว่า หลังจากนั้นโรงงานยังคงเดินเครื่องตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตนและชาวบ้านสุดทนจึงเข้าชื่อยื่นฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปลวกแดง ที่ 1 อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ที่ 2 บริษัท ฮัตเคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 3 บริษัท วีวาล จำกัด ที่ 4 ต่อศาลปกครองระยอง และเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองระยอง มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 4 ระงับการประกอบกิจการโรงงานไว้ก่อน แต่บางวันก็ยังมีการเดินเครื่องจักร มีพนักงานมาทำงานตามปกติ
มิถุนายน 2556 ทุกข์ของชาวบ้านปลวกแดงยังไม่หมดแต่เพียงแค่นั้น เพราะยังต้องเผชิญกับปัญหาการลักลอบทิ้งขยะพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อมีรถบรรทุกพ่วงเทรลเลอร์จำนวนหลายสิบคัน ขนขยะพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง มาทิ้งในพื้นที่กว่า 10 ไร่ของเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งน้ำสาธารณะที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลนานนับปี บริเวณข้างโรงงาน ทีเอ็นเอส ม.1 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง จนส่งกลิ่นเหม็นแก๊สไข่เน่าจนแสบตา จมูก และวิงเวียนศีรษะ
ที่ผ่านมา ชาวบ้านกว่า 200 คนเข้าชื่อร้องเรียนนายอำเภอ แต่เรื่องกลับเงียบหาย ชาวบ้านจึงเกิดอาการเครียด เวลามีฝนตกลงมาบริเวณพื้นที่ฝังกลบขยะพิษจะมีไอจากสารเคมีลอยเป็นกลุ่มควันสีขาวฟุ้งกระจายส่งกลิ่นเหม็นในระยะไกล ทั้งนี้ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าขยะจากโรงงานที่ขนมาทิ้งนั้นมีสารเคมีที่เป็นอันตรายชนิดใดบ้าง และไม่ทราบว่าขยะสารเคมีที่ขนมาทิ้งมีจำนวนเท่าไหร่แต่คิดว่ามีจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นมาตลอด ร้องเรียนเรื่องก็เงียบหายไม่รู้จะไปพึ่งใครให้เข้ามาช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยของรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของเครือข่ายเพื่อนตะวันออกในปี 2556 พบการลักลอบทิ้งขยะอันตรายและนํ้าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกหลายจังหวัดรวมกว่า 40 แห่ง อาทิเช่น ที่จังหวัดระยอง พบที่อำเภอปลวกแดง 2 แห่ง อำเภอบ้านค่าย 1 แห่ง
ปัจจุบัน พื้นที่ อ.ปลวกแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกถึง 3 แห่ง ก็ถึงเวลาต้องเผชิญความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมลพิษอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเหตุที่มีพื้นที่อุตสาหกรรมอยู่บริเวณต้นน้ำ
ทั้งนี้ ผังนโยบายการพัฒนาภาคตะวันออก ปี 2600 กำหนดให้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบที่ต้องขนส่งผ่านท่าเรือน้ำลึก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
(ข้อมูล ณ พ.ศ. 2557)
เอกสาร: “มาบตาพุด แค่ก้าวแรก”, ไทยโพสต์, 21 มีนาคม 2552. เข้าถึงได้จาก http://www.thaipost.net/node/2081
: “ความล้มเหลวของการจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหามลพิษระหว่างโรงงานเจนโก้กับชุมชนเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง”, เพ่ง บัวหอม, สาขาไทยศึกษา, คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา. เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/565590
: “ของเสียอันตรายปัญหาระดับโลกที่ยังแก้กันผิดทาง”, หนองแหน...บทเรียนและอนาคตที่ต้องไปต่อ,เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กุมภาพันธ์ 2557. เข้าถึงได้จาก http://www.thia.in.th/uploads/file/2014%20Febuary_aor/nhongnae%20final%20febuary%2014.pdf
: การกำหนดและการดำเนินการตามนโยบายเพื่อสาธารณประโยชน์: กรณีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมมาบตาพุด, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, รศ.ดร.ฉวีวรรณ สายบัว, ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พฤษภาคม 2554. เข้าถึงได้จาก http://www.iceh.or.th/iceh/published/Case_of_MTPID.pdf
: ทัวร์ชลบุรี-ระยอง3วัน 2 คืน (ตอน 1), ประชาไท, 12 ตุลาคม 2547. เข้าถึงได้จาก http://www.prachatai.com/journal/2004/10/755
: โครงการนิคมอุตสาหกรรมไทย-สิงคโปร์ 21, การขยายอุตสาหกรรมและปัญหา, มลพิษอุตสาหกรรม, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2542-43, สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, มูลนิธิโลกสีเขียว, หน้า 293-295
: ข้อมูลการวิเคราะห์ศักยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ครบทุกมิติสำคัญของพื้นที่ และระบุทิศทางหรือนโยบายการพัฒนาในมิติที่สำคัญทุกด้านในพื้นที่, สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก. เข้าถึงได้จาก http://www.eastosm.com/แผนพฒนากลมจงหวดและแผนปฏบตราชการ/แผนพฒนาจงหวดระยองพศ25582561/tabid/966/language/th-TH/Default.aspx?PageContentID=131
: 8 องค์กรท้องถิ่นปลวกแดงยื่นหนังสือค้านเปลี่ยนสีผังเมือง, ศูนย์ข่าวศรีราชา, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10 กันยายน 2549. เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9490000114299
: ชาวระยองกว่า 200 คนรวมตัวต้านโรงไฟฟ้านิคมอมตะซิตี้, ข่าวสิ่งแวดล้อม, www.manager.co.th, 15 กรกฎาคม 2551. เข้าถึงได้จาก http://www.en.mahidol.ac.th/thai/news/2008/07/15_02.html
: ชาวระยองรวมตัวค้านโรงงานถลุงเหล็ก บริเวณแม่น้ำคู้, ข่าวภูมิภาค, ASTV ผู้จัดการรายวัน, 27 มีนาคม 2552. เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000035117
: เมิน! ศาลสั่งหยุด รง.ดื้อเดินเครื่องต่อ, ข่าวทั่วไป, คมชัดลึก, 10 มิถุนายน 2555. เข้าถึงได้จาก http://www.komchadluek.net/detail/20120610/132407/%E0%C1%D4%B9!%C8%D2%C5%CA%D1%E8%A7%CB%C2%D8%B4%C3%A7.%E0%B6%D7%E8%CD%B9%B4%D7%E9%CD%E0%B4%D4%B9%E0%A4%C3%D7%E8%CD%A7%B5%E8%CD.html
: ชาวปลวกแดงโวยทิ้งขยะสารพิษ รง.อุตฯ บนที่ดินกว่า 10 ไร่ ใกล้คลองสาธารณะ, ข่าวภูมิภาค, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25 กุมภาพันธ์ 2556. เข้าถึงได้จาก http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000023972
: โครงการวางและจัดทำผังเมืองอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง, สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดระยอง, บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, 3 พฤศจิกายน 2552