PM 2.5 กับอุตสาหกรรม ตอนที่ 2: กรณีมลพิษอากาศอุตสาหกรรมในตำนาน


โดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และสุกรานต์ โรจนไพรวงศ์

มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มีนาคม 2566

 

 

ก่อนที่จะเกิดการตื่นตัวระดับประเทศต่อปัญหามลพิษทางอากาศในช่วงทศวรรษนี้ โดยเฉพาะต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 อดีตที่ผ่านมามีกรณีปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบรุนแรงเกิดขึ้นกับประชาชนบางพื้นที่และบางกลุ่ม จนไม่อาจดำเนินชีวิตปกติสุขมาอย่างยาวนาน

ต่อไปนี้เป็นกรณีตัวอย่าง 3 กรณีที่จะหยิบยกมากล่าวถึงโดยสังเขป

 

กรณีมลพิษอากาศที่แม่เมาะ

 

กรณีมลพิษอากาศจากกิจการเหมืองแร่ลิกไนต์และโรงไฟฟ้าแม่เมาะถือเป็นกรณีปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับแรกๆ ของประเทศไทย โดยสภาพปัญหาหลักๆ คือการเกิดฝุ่นควันซัลเฟอร์ไดออกไซด์และการเกิดน้ำฝนเป็นกรด[i] รวมถึงฝุ่นขี้เถ้าหลังการเผาไหม้ปริมาณมาก กรณีปัญหานี้นับว่ามีทั้งความรุนแรงและเรื้อรัง จนประชาชนต้องมีการเคลื่อนไหวในหลากหลายรูปแบบ[ii]

 

โรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ภาพโดย สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์

 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มต้นทำกิจการเหมืองลิกไนต์ในบริเวณ “แอ่งแม่เมาะ” จ. ลำปาง ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2497 ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ลิกไนต์จากเหมืองเป็นเชื้อเพลิงนั้น ทยอยเปิดเดินเครื่องในพื้นที่ใกล้เคียงกันเมื่อปี 2515 และเปิดจนครบ 13 หน่วยเมื่อปี 2538[i] ด้วยกำลังการผลิตรวม 2,625 เมกะวัตต์

 

การดำเนินงานของเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อผลกระทบในรูปแบบต่างๆ มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ซึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบมีถึง 23 หมู่บ้าน ใน 5 ตำบล[ii] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของมลพิษอากาศที่มีการสะสมของสารพิษโดยไม่เคลื่อนตัวไปไหน ด้วยเหตุที่สภาพภูมิประเทศบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าและเหมืองนั้นเป็นพื้นที่ราบมีภูเขาโอบล้อมเกือบรอบด้าน และสภาพอากาศในพื้นที่มีความกดอากาศค่อนข้างสูง อุณหภูมิผกผัน อากาศเคลื่อนตัวช้า หรือเคลื่อนตัวจากบนลงสู่เบื้องล่าง อีกทั้งกิจกรรมของเหมืองและโรงไฟฟ้ายังก่อให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละอองด้วย[iii]

 

มลพิษทางอากาศกรณีแม่เมาะปะทุขึ้นชัดเจนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2535 เมื่อปรากฏการณ์ “ฝนกรด” ได้เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างครอบคลุมรัศมี 7 กิโลเมตรในเขต อ. แม่เมาะ ซึ่งฝนกรดเป็นปรากฏการณ์ที่มักเกิดจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur Dioxide: SO2) ปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทำให้ฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลานั้นมีฤทธิ์เป็นกรดมากกว่าน้ำฝนปกติ

 

ภาวะน้ำฝนเป็นกรดพื้นที่อำเภอแม่เมาะเป็นปัญหาใหญ่ที่ยาวต่อเนื่องหลายปี น้ำฝนที่มีภาวะกรดสูงได้ทำลายต้นไม้ พืชผัก รวมถึงต้นข้าว จนเหี่ยวเฉา สัตว์เลี้ยงเป็นแผลเน่าเปื่อยและล้มตาย ส่วนชาวบ้านมีอาการแสบคันตามร่างกาย หายใจไม่สะดวก และเจ็บป่วยด้วยอาการต่างๆ นับพันคน[iv] โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย จะมีอาการชัดเจนและเฉียบพลัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางรายงานจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษเฉียบพลันในครั้งนั้นว่า มีผู้ป่วยนอก 1,222 ราย ผู้ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 35 ราย และมีผู้ที่มารับการรักษากับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อีก 1,120 ราย[v]

 

จากการตรวจวัดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าฯ สู่บรรยากาศในช่วงนั้น พบค่าเฉลี่ยความเข้มข้นสูงถึง 3,418 มค.ก./ลบ.ม./ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานไปมาก[vi] ทั้งที่กฎหมายได้กำหนดค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ชั่วโมงของพื้นที่ 5 ตำบลใน อ. แม่เมาะไว้ที่ไม่เกิน 1,300 มค.ก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าความเข้มข้นที่สูงได้มากกว่าพื้นที่ทั่วไปอื่นๆ อยู่แล้ว กล่าวคือ ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศของพื้นที่อื่นมีค่าความเข้มข้นเฉลี่ยได้ไม่เกิน 780 มค.ก/ลบ.ม.[vii]

 

ผู้บริหาร กฟผ. ในขณะนั้นได้ออกมายอมรับว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับมีข้อแก้ต่างว่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าไม่มีเครื่องตรวจจับและกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือเครื่อง FGD (Flue gas desulfurization System)[viii]

 

เหมืองถ่านหินลิกไนต์ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ภาพโดย: สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์

 

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 16 หมู่บ้าน เริ่มรวมตัวกันเรียกร้องต่อทั้ง กฟผ. และภาครัฐ ให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาและรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น[i] รวมถึงการกำหนดทางเลือกสุดท้ายไว้ด้วยว่า หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็ให้รับผิดชอบในการอพยพชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ เพื่อที่จะได้พ้นจากสภาพการเป็นผู้ต้องได้รับผลกระทบ

 

ต่อมา ปรากฏว่า กฟผ. ได้ดำเนินการอพยพชาวบ้านระลอกใหญ่จำนวนถึง 10 หมู่บ้านจริงๆ แต่มีการให้เหตุผลว่าเนื่องจากชาวบ้านเหล่านั้นอาศัยอยู่ในที่ราชพัสดุอันสงวนไว้สำหรับการทำเหมืองแร่ กฟผ. จึงมีการจัดหาที่อยู่และที่ทำกินใหม่ พร้อมทั้งเงินชดเชย ให้กับผู้ยินยอมอพยพ ส่วนคนที่ไม่ยอมก็ถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดิน กฟผ.[ii]

 

ทางด้านรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจัดซื้อเครื่อง FGD จำนวน 10 เครื่อง ด้วยงบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อให้ติดตั้งไว้ภายในโรงไฟฟ้า[iii] โดยถือว่าเป็นมาตรการสำคัญในการลดผลกระทบเรื่องการมีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมาปนเปื้อนในอากาศ แต่ไม่ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านโดยตรงแต่อย่างใด

 

ถึงแม้จะมีการติดตั้งเครื่อง FGD แล้วเสร็จ (เดินเครื่องเครื่องแรกกลางปี 2538 และเครื่องสุดท้ายต้นปี 2543) เพียงไม่นาน เครื่องก็ชำรุดเสียหาย[iv] และในปี 2542-2543 กฟผ. ได้ยกเลิกการผลิตของโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1 ถึง 3

 

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีหรือไม่มีเครื่อง FGD ปัญหามลพิษทางอากาศก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยของชาวชุมชนอย่างกว้างขวาง[v] นอกจากนั้นยังลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้แก่เรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชาชนในพื้นที่ ความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนคดีความ โดยกลุ่มผู้รับผลกระทบและผู้เจ็บป่วยได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในปี 2546 และ 2547 รวม 2 คดี โดยมี กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีในฐานกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย

 

จากผลการศึกษาร่วมกันของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ และคณะสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เริ่มศึกษาในปี 2537 และติดตามต่อเนื่อง 5 ปี หลังจากที่เกิดเหตุการณ์มลพิษรุนแรงในปี 2535 พบว่า มลพิษอากาศที่อำเภอแม่เมาะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน 16,101 คน จาก 4,677 ครอบครัว ใน 16 หมู่บ้าน ของ 3 ตำบล สาเหตุหลักของมลพิษอากาศเกิดจากฝุ่นจำนวนมากที่เกิดขึ้นในกระบวนการถลุงแร่ การขนส่งถ่านหินลิกไนต์ป้อนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ควันและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการสันดาปในกองถ่านหินลิกไนต์จำนวนมากที่กองไว้กลางแจ้งเพื่อรอการขนย้าย การเผาไหม้ลิกไนต์เพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าทั้งหลายที่ทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และฝุ่นเขม่าที่ลอยออกจากปล่องควันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก รวมถึงฝุ่นขี้เถ้าหลังการเผาไหม้ที่มีปริมาณมาก[vi]

 

จนถึงปัจจุบัน หากสอบถามจากชาวบ้านในพื้นที่ พวกเขายืนยันว่าปัญหาที่แม่เมาะยังคงดำรงอยู่ โดยในส่วนปัญหามลพิษทางอากาศยังมีครบทั้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นละเอียด เช่นเดียวกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้าน ทั้งผื่นคันตามร่างกายและอาการหายใจลำบาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่มีความกดอากาศต่ำ[vii] แน่นอนว่ามีปัญหาสารพิษในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นดินหรือน้ำ แต่ดูเหมือนทั้งตัวปัญหาและการแก้ปัญหามลพิษต่างๆ ที่แม่เมาะล้วนอยู่ในความคลุมเครือพอๆ กัน

 

แต่ก็มีประเด็นที่ชัดเจนอยู่ นั่นคือ กรณีมลพิษอากาศที่แม่เมาะนั้นเป็นปัญหาเรื้อรังนานข้ามทศวรรษ

 

กรณีมลพิษอากาศในพื้นที่มาบตาพุด

 

กรณีมลพิษอากาศในพื้นที่มาบตาพุด อ. เมือง จ. ระยอง เป็นกรณีที่ปัญหามลพิษอากาศมีความรุนแรงที่สุดและมีความซับซ้อนของสารมลพิษในอากาศมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่มาบตาพุดและตำบลใกล้เคียงเป็นเขตที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกือบ 200 แห่ง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมเคมี เคมีภัณฑ์ พลาสติก อุตสาหกรรมแทนทาลัม

 

ในทางวิชาการเป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของสารอันตรายกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) ซึ่งมีหลายชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เช่น เบนซีน 1,3-บิวทาไดอีน ฯลฯ นอกจากนี้ ในเขต อ. เมืองระยองโดยรวมยังเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลากหลายชนิด รวมแล้วมีโรงงานเป็นจำนวนถึง 1,366 แห่ง[viii]

 

นอกเหนือจาก VOCs แล้ว พื้นที่นี้ยังมีปัญหาจากสารมลพิษทางอากาศชนิดอื่น ที่มีอันตรายอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน สารที่เป็นองค์ประกอบของกำมะถัน เป็นต้น

 

ควันดำจากปล่องเผาก๊าซ ต้นเหตุสำคัญของมลพิษอากาศในพื้นที่มาบตาพุด

ภาพโดย: กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม

 

ชาวบ้านมาบตาพุดได้เริ่มร้องเรียนเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2540[i] โดยลักษณะปัญหาที่ประสบคือ การได้กลิ่นเหม็นรุนแรงที่มีหลากหลายกลิ่น ซึ่งชาวบ้านมีการจำแนกและนิยามหรือให้ชื่อเรียกแบบรู้กันเองภายในกลุ่มผู้รับผลกระทบ เช่น กลิ่นแอมโมเนีย กลิ่นแก๊ส กลิ่นซัลเฟอร์ฯ กลิ่นหอมเอียน กลิ่นฝรั่งสุก กลิ่นหัวไม้ขีด กลิ่นน้ำส้มเน่า และกลิ่นละมุด

 

ในจำนวน 25 ชุมชนของเขตเทศบาลมาบตาพุด (ช่วงพ.ศ. 2544-2546) มีถึง 20 ชุมชนที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศในระดับรุนแรง ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศหรือกลิ่นเหม็นจากโรงงานที่ส่งผลต่อชุมชนส่วนมากขึ้นกับระยะห่างระหว่างโรงงานกับชุมชน โดยมีปัจจัยเรื่องทิศทางลมตามฤดูกาลเป็นตัวกำหนดสำคัญ[ii]

 

รายงานของหน่วยงานราชการระบุว่า มลพิษทางอากาศบริเวณมาบตาพุดในบางช่วงเกินค่ามาตรฐานไปมาก เช่นกลางปี 2540 เป็นช่วงที่สภาพมลพิษอากาศเลวร้ายที่สุด เนื่องจากความกดอากาศต่ำ ดังนั้นจึงทำให้มีคนเจ็บป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะครูและนักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารที่เจ็บป่วยกันกะทันหันหลายร้อยคนจนต้องนำส่งโรงพยาบาล และเรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อสารมวลชนต่างๆ รัฐบาลจึงไม่อาจนิ่งเฉย ได้ตั้งคณะทำงานร่วม 4 หน่วยงานขึ้นแก้ไขปัญหา ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้สั่งให้โรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวและปรับปรุงเครื่องกรองมลพิษ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ทุกห้องเรียนของโรงเรียน รวมทั้งมีการย้ายนักเรียนออกไปฝากเรียนที่อื่น แต่ก็ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยในช่วงกลางปี 2541 ปัญหาก็ปะทุหนักอีก[iii] และเกิดเรื้อรังอยู่หลายปี จนมีการตัดสินใจย้ายที่ตั้งของโรงเรียนในที่สุด แต่ในส่วนของชุมชนทั้ง 25 แห่งนั้น ไม่มีการโยกย้ายไปไหน และยังคงต้องเผชิญปัญหาต่อไปจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

จากงานวิจัยของเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และวลัยพร มุขสุวรรณ ในนามกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม (กศอ.) เมื่อปี 2546 ระบุว่า ตัวแทนชุมชนในเทศบาลมาบตาพุดส่วนใหญ่ให้ข้อมูลตรงกันว่า กลิ่นเหม็นในบรรยากาศบริเวณมาบตาพุดทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ โดยลักษณะร่วมของคนส่วนใหญ่ได้แก่ อึดอัด แสบจมูก คัน ขึ้นผื่น หายใจไม่ออก คลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ นอกจากนี้บางคนมีอาการซึม เพลีย ง่วงนอน หอบหืด รวมถึงอาการภูมิแพ้กำเริบ ที่สำคัญ แม้ในยามไม่ได้กลิ่น แต่ก็สามารถสัมผัสได้ว่า “อากาศมีปัญหา” รวมทั้งมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นด้วย เช่น แน่นหน้าอกฉับพลัน อาการภูมิแพ้กำเริบ คัน ตาบวม ฯลฯ ส่วนความเครียด ความอึดอัดคับข้องใจ และความโกรธ ก็เป็นอีกผลพวงที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย[iv]

 

แม้ว่าผลการพิสูจน์ตรวจหาแหล่งที่มาของกลิ่นโดยตัวแทนชุมชนร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลานั้นจะนำมาสู่ผลสรุปว่า แหล่งกำเนิดกลิ่นส่วนใหญ่มาจากโรงงานปิโตรเคมี โรงงานเคมี และโรงกลั่นน้ำมัน แต่ก็กล่าวได้ว่า ตลอดช่วงระยะเวลาต้นทศวรรษ 2540 นั้น ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า อากาศที่มาบตาพุดปนเปื้อนด้วยสิ่งใด จนกระทั่งในปี 2546 กศอ. (ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ EARTH) ก็ได้ร่วมกับกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชาวชุมชนมาบตาพุด จัดตั้ง “หน่วยกระป๋องตรวจมลพิษอากาศ” (Thailand Bucket Brigade) ขึ้นเก็บตัวอย่างอากาศบริเวณมาบตาพุดส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Global Community Monitor (GCM) ซึ่งผลพบว่า มีสาร VOCs เช่น เบนซีน โทลูอีน สไตรีน รวมทั้งสารประกอบของซัลไฟด์ ปะปนอยู่ในตัวอย่างอากาศเป็นจำนวนมากถึง 21 ชนิด โดยมีหลายชนิดที่มีค่าสูงเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัยที่ต่างชาติกำหนด[v] ทั้งนี้ ในเวลานั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานใดๆ ของ VOCs

 

รายงานผลการตรวจอากาศที่มาบตาพุดของ “หน่วยกระป๋องตรวจมลพิษอากาศ”

 

     

ที่มา: ธารา บัวคำศรี และคณะ, ตุลาคม 2548

 

เมื่อ กศอ. และกรีนพีซจัดแถลงข่าวเรื่องนี้ ต่อเนื่องด้วยการพิมพ์รายงานชื่อ “อะไรอยู่ในอากาศ ความลับที่คนมาบตาพุดและคนไทยยังไม่รู้” ออกมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เกิดหลักฐานเชิงประจักษ์ขึ้นว่า ชาวมาบตาพุดต้องหายใจเอาอากาศที่เจือปนสารอันตรายเข้าปอดเกือบทุกวัน สารอันตรายนี้เป็นกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds หรือ VOCs) ซึ่งมีบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) เช่น สารเบนซีน ไวนิลคลอไรด์, 1,2 ไดคลอโรอีเธน,  คลอโรฟอร์ม[i] เป็นต้น เหตุการณ์นี้ก็ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างขนานใหญ่ มีการเข้าตรวจวัดอากาศที่มาบตาพุดเพื่อตรวจหาสาร VOCs กันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งผลคือพบสารเหล่านั้นมากกว่าที่ “หน่วยกระป๋องฯ” ของภาคประชาชนตรวจพบเสียอีก[ii] ในที่สุดจึงเกิดการออกประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก. วล.) เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี ออกมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย (สำหรับสารอินทรีย์ระเหยง่าย 9 ตัว) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550 และมีประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง กำหนดค่าเฝ้าระวังสำหรับสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 24 ชั่วโมง (สำหรับสารอินทรีย์ระเหยง่าย 19 ตัว) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 ทั้งยังมีผลให้สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีการติดตามตรวจวัดและควบคุมการปล่อยสารพิษกลุ่มนี้มากขึ้น และกรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งสถานีตรวจวัด VOCs ในเขต อ. เมือง จ. ระยอง เพื่อตรวจวัดสาร VOCs อย่างสม่ำเสมอ ในเวลานี้ต่อมา ภายหลังการประกาศเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยองแล้ว ก็มีแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550 – 2554 ที่มีวงเงินดำเนินงานสูงกว่า 22,700 ล้านบาท

 

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและย่านใกล้เคียงยังคงขยายตัวและรุกคืบอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งการเกิดนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ การขยายโรงงานเพิ่มภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว หรือแม้แต่การขยายกำลังการผลิตภายในโรงงานเดิม ซึ่งชักนำให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและกิจการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายเพิ่มเติมขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าพลังเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ

 

ทางด้านของภาคประชาชนจึงเกิดกระแสการเรียกร้องให้รัฐบายมีนโยบายหยุดการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโครงการใหม่ที่ภาคเอกชนมีแผนจะสร้างเพิ่มเติมอีกหลายสิบแห่ง พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหามลพิษอากาศอย่างจริงจัง จนนำมาสู่การฟ้องคดีปกครอง 2 คดีใหญ่ โดยคดีแรกเป็นการฟ้องคดีของประชาชน 27 คนจาก 11 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ผู้ถูกฟ้องคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล) ในฐานละเลยการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ[iii] และคดีที่สองเป็นการฟ้องจากตัวแทนประชาชน 43 คน ที่เดือดร้อนจากมลพิษทางอากาศเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 โดยยื่นฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสียจำนวน 36 บริษัท เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยองจำนวน 76 โครงการ ซึ่งประกอบด้วยโครงการอุตสาหกรรม 65 โครงการ โครงการคมนาคม 6 โครงการ และโครงการพลังงาน 5 โครงการ ตลอดจนมีการขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีการพิจารณาโครงการทั้งหมดให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550[iv]

 

จากการต่อสู้ของประชาชนในคดีแรก มีผลทำให้ กก. วล. ได้ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ[v]ตามคำสั่งศาลปกครอง แต่ในทางคดีก็มีการต่อสู้กันจนถึงชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้มีคำพิพากษาออกมาเป็นที่สุดเมื่อปี 2560 เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าพื้นที่มาบตาพุดมีมลพิษร้ายแรงจริง จึงถือว่า กก.วล. ละเลยต่อหน้าที่ และต้องประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ก็ยังคงมีการต่อสู้มาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีความพยายามที่จะเพิกถอนเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยองให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของการพัฒนาอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคประชาชน นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างเห็นว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่มาบตาพุดอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ปัญหากลิ่นเหม็นสารเคมียังคงมีความรุนแรงอยู่ แม้การมีแผนลดและขจัดมลพิษที่จัดทำขึ้นภายใต้การประกาศเขตควบคุมมลพิษที่ผ่านมาอาจไม่ได้ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาในลักษณะระงับยับยั้งหรือบรรเทามลพิษได้จริงมากนัก แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายใดๆ ที่จะควบคุมการขยายตัวของอุตสาหกรรม จนไม่คำนึงถึงศักยภาพในการรองรับมลพิษของสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นี้ไปเสียเลย

 

ในส่วนผลของคดีที่สอง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ให้เพิกถอนใบอนุญาต 2 โครงการ และได้ยกคำร้องที่เหลืออีก 74 โครงการ ทำให้โครงการส่วนใหญ่สามารถเดินหน้าต่อได้ตามปกติ รวมถึงโครงการโรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ของ บมจ. ปตท. (PTT) ด้วยเหตุผลว่า โครงการเหล่านี้เริ่มดำเนินการและมีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนประกาศใช้มาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 จึงถือว่าภาครัฐดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอน ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหามลพิษแต่อย่างใด[vi]

คดีดังกล่าวนี้ยังทำให้เกิดผลต่อเนื่องทางนโยบายอีก 2 เรื่อง กล่าวคือ

 

1) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม (จ. สมุทรปราการ สมุทรสาคร และระยอง) โดยให้เข้มงวดการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานในพื้นที่ให้สอดคล้องกับผังเมือง สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ (จ. ฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี) และให้พิจารณาจัดทำแผนการยกระดับนิคม/เขตประกอบการอุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป[vii] อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงอย่างมีนัยสำคัญใดๆ โดยเฉพาะการลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

 

2) เกิดโครงการพัฒนาระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (JICA-PRTR) จังหวัดระยอง พ.ศ. 2554 หรือเรียกว่า “โครงการนำร่อง JICA-PRTR” เพื่อแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง และเป็นกรอบที่สามารถนำไปสู่การพัฒนากฎหมายว่าด้วยการรายงานและการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงชนิดและปริมาณของมลพิษ ที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดสู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อมทั้งด้านอากาศ ดิน น้ำ และข้อมูลปริมาณการเคลื่อนย้ายน้ำเสียและของเสียอุตสาหกรรมออกนอกสถานประกอบการเพื่อบำบัดหรือกำจัดของประเทศ[viii] ทั้งนี้ มีการบรรจุเรื่องการจัดทำกฎหมาย PRTR ไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

 

แต่ก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องยังคงมิได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดกฎหมาย PRTR ตามหลักการที่ถูกต้องอย่างจริงจัง แต่ขณะนี้ (2566) ภาคประชาชน นำโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม 3 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. หรือเรียกว่า ร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน ด้วยการรวบรวมรายชื่อประชาชนหนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อยื่นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร

 

ส่วนผลการเรียกร้องด้านการดูแลและติดตามผลกระทบด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 จนถึงต้นทศวรรษ 2550 ได้ก่อให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพในพื้นที่ในระดับหนึ่ง แต่ยังถือว่าค่อนข้างห่างไกลจากเรื่องของการพิสูจน์ทราบความจริงเพื่อแก้ไขปัญหา และแทบไม่ต้องพูดถึงมิติของการป้องกันปัญหาแต่อย่างใด

 

จนถึงปัจจุบัน กรมควบคุมมลพิษยังคงตรวจพบสารเบนซีน และ 1,3-บิวทาไดอีน มีค่าสูงเกินมาตรฐานในบางจุดตรวจวัดของพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในแต่ละปี[ix] และได้พยายามจัดทำ “ร่างมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งสารเบนซีน และสาร 1,3 บิวทาไดอีนในรูปอัตราการระบาย (loading) จากโรงงานอุตสาหกรรมเคมี” เพื่อควบคุมให้ลดการปล่อยสารอันตรายทั้งสองชนิดนี้ในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ซึ่งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554[x]  แต่ด้วยปัญหาและอุปสรรคหลายอย่าง ทำให้ยังไม่สามารถจัดทำร่างมาตรฐานดังกล่าวได้สำเร็จแม้เวลาได้ผ่านไปแล้วกว่า 10 ปี

 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่า ปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้ในวันที่พื้นที่มีสถานะทางกฎหมายเป็นเขตควบคุมมลพิษก็ตาม

 

กรณีมลพิษอากาศพื้นที่เมืองสมุทรสาคร

 

ท่ามกลางปรากฏการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อ. เมืองสมุทรสาคร จ. สมุทรสาคร ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหารุนแรงมากติดอันดับต้นๆ ของประเทศ  อ. เมืองสมุทรสาครเป็นเขตรองรับการย้ายโรงงานออกจากกรุงเทพมหานครในยุคแรก และมีการขยายตัวมาเรื่อยๆ  จนกระทั่งกลายเป็นกระจุกตัวของโรงงานทุกขนาดและมีอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ตั้งแต่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ผลิตผลทางการเกษตร ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทางอากาศรุนแรง เช่น อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติก อุตสาหกรรมหล่อและหลอมโลหะ/อโลหะ ฯลฯ

 

ควันดำที่พบเห็นได้เกือบทุกวันจากปล่องโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร

ที่มา: โครงการสมุทรสาครสีเขียว มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

การเติบโตและการกระจายตัวของโรงงานในยุคนั้นไม่ได้มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม ขาดระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบบำบัดมลพิษอากาศ และการจัดการขยะอุตสาหกรรม รวมถึงขยะชุมชนที่มีปริมาณพุ่งสูงขึ้นมากจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้ออกประกาศในปี พ.ศ. 2538 ให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นเขตควบคุมมลพิษพร้อมกับจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม ซึ่งเป็นจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานครที่มีการขยายตัวรวดเร็วของโรงงานอุตสาหกรรมเหมือนกัน[i] เพื่อให้จังหวัดจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษจากน้ำเสีย  มลพิษทางอากาศ และเสียง มลพิษจากมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงมลพิษอื่นๆ อย่างไรก็ดี นับจากปี 2538 จนถึงปัจจุบัน (2566) ปัญหามลพิษทุกด้านในจังหวัดสมุทรสาครไม่ได้ลดลง ในทางตรงกันข้าม กลับรุนแรงมากขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายจังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานครประสบปัญหามลพิษอากาศจากฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรง  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการติดตามตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ใน 29 จังหวัดของประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2561 เปิดเผยว่า ประชาชนในพื้นที่เมืองของ 10 จังหวัดอันดับแรกที่พบความเข้มข้นของฝุ่นสูงต้องอยู่กับภาวะฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องกันนานประมาณ 19-68 วัน  และพื้นที่ใน ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร พื้นที่ที่มีปัญหาหนักที่สุด[ii]

 

ในปี 2564 โครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อสุขภาวะองค์รวม หรือโครงการสมุทรสาครสีเขียว ของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM2.5 และ PM10 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า โรงงานอุตสาหกรรมใน อ.เมืองสมุทรสาคร เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองทั้งสองประเภทมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับภาคการจราจรและขนส่ง การเผาขยะมูลฝอย และการเผาในที่โล่ง ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดฝุ่น PM10 สูง 70,633 ตันต่อปี และฝุ่น PM2.5  สูง 44,228 ตันต่อปี ขณะที่ภาคการจราจรและขนส่ง ปล่อยฝุ่น PM10 จำนวน 203 ตันต่อปี และฝุ่น PM2.5 197 ตันต่อปี ตามด้วยการเผาขยะที่ปล่อย PM10 สูง 150 ตันต่อปี และ PM2.5  สูง 49 ตันต่อปี แหล่งกำเนิดที่ปล่อยน้อยที่สุดคือ การเผาในที่โล่ง คือ จำนวน PM10 เท่ากับ 1 ตันต่อปี และ PM2.5 เท่ากับ 0.94 ตันต่อปี[iii] เมื่อพิจารณาพื้นที่รวมทั้งจังหวัดแล้ว เห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดหลักของการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยพื้นที่วิกฤตที่มีการปลดปล่อยสูงสุดคือ อ.เมืองสมุทรสาคร

 

ที่มา: โครงการสมุทรสาครสีเขียว มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

จากตัวอย่าง 3 กรณีที่เล่าโดยสังเขปเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า มลพิษทางอากาศที่เกิดจากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาที่มีความร้ายแรงอย่างสูง ทั้งยังมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และโดยพื้นฐานที่สุดแล้ว กล่าวได้ว่า ยังมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่เพียงพอ ซึ่งความขาดพร่องในปัจจัยพื้นฐานนี้เองก็ทำให้การเข้าถึงและเข้าใจปัญหามลพิษอากาศจากแหล่งอุตสาหกรรมของสังคมยังบกพร่องและถูกบิดเบือนได้ง่าย

 


 


[i] ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2538) เรื่อง กำหนดให้ท้องที่เขตจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม เป็นเขตควบคุมมลพิษ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 16 ง วันที่ 23 พฤษภาคม 2538

[ii] “มหาชัย” ติดอันดับ1 เมืองมลพิษฝุ่น “กรีนพีซ” จี้กรมควบคุมมลพิษปรับเกณฑ์มาตรฐานใหม่, 26 มกราคม 2562, อ้างจากเว็บไซต์ https://workpointtoday.com//เมืองมลพิษฝุ่น-กรีนพีซ/

[iii] อัจฉริยา สุริยะวงค์ และคณะ, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เอกสารนำเสนอเรื่อง ฐานข้อมูลการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร, โครงการสมุทรสาครสีเขียว มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กันยายน 2564.

 


[i] ธารา บัวคำศรี และคณะ, อะไรอยู่ในอากาศ ความลับที่คนมาบตาพุดและคนไทยไม่รู้ (Thailand's Air: Poison Cocktail: Exposing Unsustainable Industries and the Case for Community Right to Know and Prevention), กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โกลบอลคอมมิวนิตี้มอนิเตอร์, กรุงเทพฯ, ตุลาคม 2548, น. 10.

[ii] ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา [และคนอื่นๆ]. 2551. “มาบตาพุด...ทุกข์ท้น มลพิษท่วม”, สุขภาพคนไทย 2551: รายงานสถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551. จัดทำโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้แผนงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อ้างจาก https://www.thaihealthreport.com/th/situation_ten.php?id=137&y=2551&bm=17, เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2565

[iii] กองบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม, ศาลสั่งจำหน่ายคดีชาวมาบตาพุดฟ้อง ‘กก.วล.’ เหตุประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้วตั้งแต่ปี 52, 19 ตุลาคม 2550, อ้างจาก https://greennews.agency/?p=15561 (เข้าถึงเมื่อ 15 ตุลาคม 2562)

[iv] สำเนา, ศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ 586/2552 คำสั่งที่ 592/2552 ลงวันที่ 2 เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2552.

[v] ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2552) เรื่อง กำหนดให้ท้องที่เขตตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ทั้งตำบล ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ทั้งตำบล และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยองทั้งตำบล รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนเศษ 65 ง ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2552.

[vi] “ศาลปกครอง สั่งเพิกถอน 2 ใน 76 โครงการมาบตาพุด เข้าข่ายโครงการกระทบชุมชนรุนแรง”, 3 กันยายน 2553. อ้างจาก https://prachatai.com/journal/2010/09/30948, เข้าถึงเมื่อ 15 ตุลาคม 2562)

[vii] กรมโรงงานอุตสาหกรรม, แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ( ปี 2561 2564 ), น. 1

[viii] กรมควบคุมมลพิษ, รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียเกี่ยวกับโครงการนำร่องการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR).

[ix] กรมควบคุมมลพิษ, รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2563, 2564. น. 90.

[x] รายงานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2554, 14 กุมภาพันธ์ 2554, อ้างจาก https://www.nesdc.go.th/more_news.php?cid=244&filename=index

 


[i] คณะอนุกรรมการด้านพลังงานและอุตสาหกรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. 2550. รายงานผลการศึกษาปัญหามลพิษในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

[ii] เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และวลัยพร มุขสุวรรณ. สิงหาคม 2546. รายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง. โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

[iii] มัชฌิมา วัฒกะวงศ์. 2542. “ปัญหาที่มาบตาพุด กลิ่นเหม็นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง” สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2540-2541, มูลนิธิโลกสีเขียว, กรุงเทพฯ

[iv] เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และวลัยพร มุขสุวรรณ. สิงหาคม 2546. อ้างแล้ว

[v] 1) สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, บรรณาธิการ. 2549. สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2548. มูลนิธิโลกสีเขียว

    2) มีศักดิ์ มิลินทวิสมัย. 2540. คุณภาพอากาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง, เอกสารประกอบสัมมนาเรื่อง “บทเรียนจากมาบตาพุด”, จัดทำโดยสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย

 

 


[i]เพิ่งอ้าง

[ii] 1) บำเพ็ญ ไชยรักษ์. 2561. อ้างแล้ว

   2) TCIJ. 2558. อ้างแล้ว

[iii] 1) องอาจ เดชา. (2548). อ้างแล้ว

   2) วรวิทย์  เจริญเลิศ, สมบุญ สีคำดอกแค และลิขิต ศรีลาพล. (2550). โครงการวิจัย กรณีศึกษากรณีคนป่วยโรคนิวโมโคนิโอซิสจากฝุ่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นถ่านหินจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

[iv] เพิ่งอ้าง

[v] TCIJ. 2558. อ้างแล้ว

[vi] โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม. 2555. อ้างแล้ว

[vii] เพิ่งอ้าง

[viii] ข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม, 2560. น. 2

 

 


[i] 1) “ประวัติความเป็นมา”, 19 ตุลาคม 2559 เว็บไซต์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าแม่เมาะ.  อ้างจาก http://maemoh.egat.com/index.php/his

  2) TCIJ. 2558. รายงานพิเศษ “วันนี้ที่แม่เมาะ ข้อเท็จ-จริงและการต่อสู้เพื่อ‘ยุติ-ธรรม’ ชาวบ้านแม่เมาะชนะคดี กฟผ.จริงหรือ ?”, 18 ตุลาคม 2558. อ้างจาก https://www.tcijthai.com/news/2015/18/scoop/5839

[ii] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. 2014. รายงานสุขภาพคนไทย เรื่อง ไฟฟ้าแม่เมาะคือต้นทุนสุขภาพราคาแพงของชาวบ้าน. เข้าถึงเมื่อ มกราคม 2564 อ้างจาก https://www.thaihealthreport.com/event2546-009

[iii] 1) บำเพ็ญ ไชยรักษ์. 2561. “23 ปีมลพิษที่แม่เมาะ: ความยุติธรรมที่มิอาจยุติความตาย”, นิตยสารสารคดี ปีที่ 31 ฉบับที่ 361มีนาคม 2558. อ้างจาก http://www.thaiclimatejustice.org/knowledge/view/121

 2) กองบรรณาธิการเว็บไซต์นักข่าวพลเมือง, “สุดทางคดีแม่เมาะ ศาลปกครองสูงสุดสั่ง กฟผ. ชดเชยผู้ป่วยมลพิษมีใบรับรองแพทย์”, นักข่าวพลเมือง, 25 กุมภาพันธ์ 2558. เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 อ้างจาก http://www.citizenthaipbs.net/node/4793, สืบค้นวันที่ 16 กันยายน 2559

[iv] 1) บำเพ็ญ ไชยรักษ์. 2561. อ้างแล้ว

  2) TCIJ. 2558. อ้างแล้ว

  3) องอาจ เดชา. 2548. ถ่านหิน สารพิษ ชีวิต คนแม่เมาะ บนเส้นทางการต่อสู้อันเจ็บปวดและยาวนาน ตอนที่ 1 (24 มกราคม 2548) ประชาไท. เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 อ้างจาก https://prachatai.com/journal/2005/01/2417

[v] บำเพ็ญ ไชยรักษ์. 2561. อ้างแล้ว

[vi] MGR online. (2558). “มหากาพย์ “แม่เมาะ” ยังไม่จบ 131 ชีวิตลุ้นอีกรอบ 25 กุมภาฯ” ผู้จัดการสุดสัปดาห์. 14 ก.พ. 2558

[vii] ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ชั่วโมง, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 27 ง วันที่ 13 กรกฎาคม 2538

[viii]องอาจ เดชา. 2548. อ้างแล้ว

 


บรรณานุกรม

[i] สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, บรรณาธิการ. 2543. สถานการณ์สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2540-2541, มูลนิธิโลกสีเขียว

[ii] 1) เพิ่งอ้าง

  2) โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม. 2555. ปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากเหมืองแร่ลิกไนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน กรณีศึกษา อ. แม่เมาะ จ. ลำปาง, เอกสารประกอบการสัมมนา “20 ปีมลพิษอุตสาหกรรมไทย: ปัญหาและการจัดการ” จัดเมื่อ 28 มิถุนายน 2555 จัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม