PM2.5 กับอุตสาหกรรม ตอนที่ 1: ในม่านมัวของปัญหาฝุ่น PM2.5 มี “อุตสาหกรรม” ซ่อนเร้นอยู่

โดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และสุกรานต์ โรจนไพรวงศ์

มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มีนาคม 2566

 

 

 

ฤดูฝุ่นกลายเป็นฤดูกาลประจำปีของประเทศไทยมาหลายปีแล้ว และดูเหมือนว่าฤดูกาลนี้มีระยะเวลายาวนานขึ้นเรื่อยๆ

 

ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนที่ปัญหาฝุ่นเริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษได้เคยจัดทำโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยรายงานที่จัดทำออกมาในเดือนสิงหาคม 2561 ได้กล่าวถึงปัญหานี้ไว้อย่างชัดเจน ว่า “ในช่วงหลายปีหลัง ระดับฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั้งปี และเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม” [i]  

 

รายงานดังกล่าวยังได้ระบุผลการตรวจวัดของสถานีตรวจวัดที่มีอยู่ 7 สถานีในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า พบค่าเฉลี่ยรายปีเกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐานคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ใน 2 สถานี และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินค่ามาตรฐาน (มาตรฐานคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 40-50 วันต่อปี ทั้งยังได้แสดงความวิตกกังวลไว้ด้วยว่า ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และกระทบต่อภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ในประเด็นเรื่องแหล่งกำเนิด รายงานการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า มีแหล่งกำเนิดที่สำคัญ 3 ประเภท คือ ไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาชีวมวล และฝุ่นทุติยภูมิอันเกิดจากปฏิกิริยารวมตัวกันของไอเสียรถยนต์และแอมโมเนียจากปุ๋ยที่ใช้ในเกษตรกรรม

 

รายงานการศึกษานี้ถูกใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลาย จนทำให้เข้าใจกันไปว่าแหล่งกำเนิดที่เป็นปัญหาหลักคือ 3 แหล่งนี้  ดังนั้น ในท่ามกลางสถานการณ์ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทย ข้อมูลและการรับรู้ทางการเท่าที่มีอยู่นั้น จึงไม่ได้เน้นหรือให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อหาข้อเท็จจริงของการปลดปล่อยฝุ่น PM2.5 จากภาคอุตสาหกรรม และยังไม่ได้พุ่งเป้าหมายการแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากแหล่งกำเนิดประเภทนี้

 

เพื่อที่จะเติมส่วนที่ขาดไปของสมการดังกล่าว บทความนี้ตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องมลพิษทางอากาศกับอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรม “เป็นตัวการหนึ่ง” ของปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยจะแบ่งการนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดออกเป็น 5 ตอน

 

สำหรับในตอนแรกนี้ที่เป็นเสมือนบทนำเป็นการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการก่อปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งในมิติเชิงปริมาณและความเป็นอันตราย ตอนที่ 2 จะว่าด้วยกรณีปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเป็นประจักษ์หลักฐานที่เป็นรูปธรรม ส่วนตอนที่ 3 จะว่าด้วยประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบ โดยเฉพาะในมิติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากนั้นตอนที่ 4 จะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับประสบการณ์การดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศต่างๆ จำนวน 3 ประเทศ ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา และเหมาะที่จะเป็นต้นแบบให้เรียนรู้ได้ สุดท้าย ตอนที่ 5 เป็นการสรุปประเด็นเพื่อตั้งข้อสังเกต ข้อถกเถียง และข้อเสนอแนะ

 

แหล่งกำเนิดจำนวนมหาศาล

 

 

โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ และโรงผลิตพลังงาน การทำเหมืองแร่ รวมถึงกิจกรรมการกำจัดขยะหรือของเสียขนาดใหญ่ เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของมลพิษอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่ก่อให้เกิดสารมลพิษแบบเดียวกัน มีที่มาไม่แตกต่างกัน นั่นคือ เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เกิดจากการใช้สารอันตรายในกระบวนการผลิต และเกิดจากจากการกำจัดสารอันตราย

 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า แหล่งกำเนิดประเภทนี้มีจำนวนมากมายมหาศาล อีกทั้งมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมยังแฝงหรือประกอบไปด้วยสารมลพิษที่อันตรายนานาชนิด

 

จำนวนโรงงานและกิจการอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยเป็นผลพวงมาจากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศไทยของรัฐบาลแต่ละยุคสมัยต่อเนื่องกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ทิศทางเรื่องนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยน

 

ก้าวกระโดดสำคัญของพัฒนาการภาคอุตสาหกรรมมาจากการดำเนินการนโยบายส่งเสริมการกระจายตัวของอุตสาหกรรมสู่ระดับภูมิภาค นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งก่อให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออก รวมถึงทำให้เกิดการกระจายของโรงงานอุตสาหกรรมออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

 

ในช่วงเวลานั้นมีการเร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเมืองหลัก อาทิ สงขลา-หาดใหญ่ เชียงใหม่–ลำพูน ตลอดจนการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บริเวณแหลมฉบัง จ. ชลบุรี และที่ ต. หนองแฟบ-มาบตาพุด จ. ระยอง[ii]

 

ในช่วง 10 ปีแรกของนโยบายดังกล่าว นั่นคือระหว่างปี 2525 – 2535 ได้ทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ ได้แก่ จ. สมุทรปราการ นนทบุรี สระบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรสาคร และนครปฐม ทั้งยังมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามเมืองหลักของประเทศด้วย เช่น นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ. ลำพูน นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ. สงขลา รวมทั้งมีความพยายามจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่โคกหินขาว จ. ขอนแก่น ด้วย แต่ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างหนักจนโครงการล้มพับไป

 

แล้วในเวลาต่อมา จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้กระจายออกไปทั่วประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2560 มีโรงงานทั้งที่ตั้งอยู่ภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนถึง 125,363 แห่ง[1] แบ่งกระจายตัวอยู่ในภาคกลางมากที่สุด จำนวน 51,080 แห่ง และน้อยที่สุดคือภาคตะวันตก จำนวน 5,194 แห่ง

 

แผนที่แสดงจำนวนโรงงานทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ ปี 2560)

 

 

ในจำนวนดังกล่าวนี้ เมื่อพิจารณาตาม “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549[iii] กิจการอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศดังกล่าวมี 20 ประเภท จากทั้งหมด 107 ประเภท ได้แก่  กิจการเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตผลทางเกษตรกรรม การสีข้าว การผลิตน้ำตาล การผลิตอาหารสัตว์ การผลิตเกี่ยวกับสิ่งทอและการฟอกย้อม  การผลิตเกี่ยวกับไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งภายใน การผลิตเยื่อและกระดาษ เคมีภัณฑ์และกิจการเกี่ยวกับสารเคมีต่างๆ การผลิตปุ๋ยหรือสารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ การกลั่นน้ำมัน การผลิตเกี่ยวกับยาง การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ กิจการเกี่ยวกับปูนประเภทต่างๆ เหล็กหรือเหล็กกล้า โลหะต่างๆ ที่ไม่ใช่เหล็ก กิจการเกี่ยวกับเครื่องยนต์ต่างๆ และกิจการการปรับคุณภาพของเสียรวม ทั้งหมดมีจำนวนรวม 63,350 แห่ง โดยกระจายอยู่ในภาคต่างๆ ภาคที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 28,670 แห่ง และน้อยที่สุดคือภาคตะวันตก จำนวน 1,716 แห่ง

 

โรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับประกาศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549

(ข้อมูล ณ ปี 2560)

 

 

ที่กล่าวมานี้คือ ข้อมูลที่แสดงน้ำหนักปัญหาในเชิงของจำนวน หรือปริมาณของโรงงาน ยังไม่รวมถึงปัญหาที่ว่า หน่วยงานกำกับดูแลสามารถควบคุมความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศได้ตามกฎหมายหรือไม่ และไม่รวมถึงปัญหาความเป็นพิษของสารมลพิษที่มีการปล่อยสู่บรรยากาศ ว่าจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

 

อีกประการหนึ่งคือ ข้อมูลจำนวนโรงงานที่นำเสนอข้างต้นนี้ ยังไม่รวมจำนวนโรงงานด้านพลังงานอีกหลายประเภทที่เป็นแหล่งก่อมลพิษทางอากาศที่สำคัญเช่นกัน ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียเข้มงวด เช่น โรงงานรีไซเคิลวัสดุใช้แล้วและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ จะได้นำเสนอข้อมูลของกิจการกลุ่มนี้กับมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ในโอกาสต่อไป

 

ความรุนแรงเข้มข้นของมลพิษจากอุตสาหกรรม

 

มลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจากสองสาเหตุใหญ่ คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานภายในโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม

 

โดยทั่วไปเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตพลังงานเพื่อการอุตสาหกรรมคือเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมี 3 ประเภท ได้แก่ 1) เชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง เช่น ถ่านหินและถ่านโค้ก 2) เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลว เช่น น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล และ 3) เชื้อเพลิงที่อยู่ในรูปก๊าซ เช่น ก๊าซธรรมชาติและก๊าซแอลพีจี (LPG)[iv] เชื้อเพลิงเหล่านี้มีสารไฮโดรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก และมีธาตุชนิดอื่นรวมอยู่ ได้แก่ ไนโตรเจน ออกซิเจน และกำมะถัน[v] นอกจากนี้ ในระยะหลังยังมีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในระบบการผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ การเผาไหม้เชื้อเพลิงเกือบทุกชนิดมักเป็นการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์และเป็นสาเหตุทำให้เกิดสารมลพิษทางอากาศหลายชนิด และเนื่องจากการผลิตพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมาก สารมลพิษที่เกิดขึ้นจึงมีปริมาณมากและมีหลากหลายชนิด

 

มลพิษทางอากาศที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่นละออง[vi] โดยชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้จะมีผลต่อการฝุ่นละอองโดยตรงด้วย[vii] นอกจากนี้ยังมีโลหะหนักเป็นธาตุเจือปนอยู่ในเชื้อเพลิงบางชนิด โดยเฉพาะถ่านหิน เช่น สารหนู แคดเมียม เซเลเนียม ตะกั่ว และปรอท[viii] เมื่อเผาไหม้เชื้อเพลิงแล้ว จึงทำให้เกิดโลหะหนักปนเปื้อนในอากาศตามมา แม้จะมีปริมาณที่เกิดขึ้นไม่มาก แต่ก็สามารถก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้  อย่างไรก็ดี สารโลหะหนักในอากาศที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมมักไม่ค่อยมีการกล่าวถึง อีกทั้งในประเทศไทยก็มีงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากโลหะหนักในอากาศต่อสุขภาพของประชาชนไม่มากนัก

 

สารมลพิษอีกสองกลุ่มซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการสันดาปของเชื้อเพลิงที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ คือกลุ่มของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) โดยเฉพาะจากการเผาไหม้ของน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ[ix] และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มสารไดออกซิน (dioxins) ซึ่งเป็นกลุ่มสารอินทรีย์และมีชื่อเต็มว่า โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ พารา-ไดออกซิน (polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) และสารประกอบที่มีความคล้ายคลึงกับกลุ่มไดออกซินอีกกลุ่มหนึ่งทั้งด้านแหล่งกำเนิดและความเป็นพิษ คือฟิวแรน (furans) มีชื่อเรียกเต็มว่า โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟิวแรน (polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) โดยทั่วไปนักวิชาการมักเรียกรวมและรู้จักกันทั่วไปว่า “ไดออกซิน/ฟิวแรน” (PCDDs/PCDFs) ไดออกซิน/ฟิวแรนจัดอยู่ในกลุ่มของสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs)

 

หน่วยผลิตที่มีการปล่อยสาร VOCs สูงคือหม้อไอน้ำและเตาให้ความร้อนที่ใช้ในอุตสาหกรรมและเตาให้ความร้อนโรงไฟฟ้า[x] ส่วนไดออกซิน/ฟิวแรนมีแหล่งกำเนิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เช่น ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมชนิดต่าง ๆ ฟืน การเผาไหม้จากเตาเผาหลายประเภท เช่น เตาเผาขยะชุมชน เตาเผาขยะติดเชื้อ เตาเผาของเสียอันตราย เตาเผาปูนซีเมนต์[xi]

 

นอกจากการใช้เชื้อเพลิงแล้ว กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเองก็เป็นอีกแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญ ซึ่งเกิดจากการใช้สารเคมีต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยอาจจะเป็นสารตั้งต้น เป็นส่วนผสม หรือเป็นตัวทำละลาย เช่น การใช้สาร VOCs ในอุตสาหกรรมหลายประเภทและทำให้เกิดการระบายสารกลุ่มนี้สู่บรรยากาศรอบ ๆ

 

แหล่งกำเนิด VOCs ขนาดใหญ่คือโรงงานอุตสาหกรรมเคมี โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และโรงงานผลิตไฟฟ้า[xii] นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพในการระบายสาร VOCs สู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และพ่นสีรถยนต์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้และทำเครื่องไม้ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเบญจรงค์และเซรามิกส์ อุตสาหกรรมฟอกย้อม ฟอกสี และสิ่งทอ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมทำความสะอาดโลหะและเครื่องจักร อุตสาหกรรมบรรจุตัวทำละลายและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช อุตสาหกรรมบำบัดคัดแยกกากของเสีย และอุตสาหกรรมซักรีด รวมถึงการขนถ่ายและการจัดเก็บสารกลุ่มนี้ ตลอดจนการขับขี่ยานพาหนะ[xiii]

 

โลหะหนักเป็นวัตถุดิบอีกประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมหลายประเภท ได้แก่ การผลิตพลาสติก พีวีซี  สี ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ยาฆ่าแมลง และปุ๋ย[xiv] ถลุงแร่ ฟอกหนัง ย้อมสี และปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้อาจปล่อยมลพิษและของเสียจากกระบวนการผลิตแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมในรูปอากาศเสีย น้ำเสีย ขยะและกากของเสีย[xv]

 

ประเภทของโลหะหนักที่มีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ ทองแดง เงิน ทองคำ ทองคำขาว สังกะสี ตะกั่ว ดีบุก โครเมียม ทังสเตน พลวง แคดเมียม ปรอท บัสมัส ไททาเนียม แทนทาลัม โคบอลต์ ยูเรเนียม นิเกิล แมงกานีส โมลิเดียม และเบอร์มัสเนียม[xvi]

 

พื้นที่ใดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้าตั้งอยู่จำนวนมากจึงมักมีสารมลพิษทางอากาศเข้มข้น และส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน นอกจากนั้น ในส่วนของของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตก็ยังเป็นอีกแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญของแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ซ้อนทับอยู่อีกชั้นหนึ่งก็คือ สังคมไทยเราแทบไม่มีข้อมูลสถิติที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ และระบบของไทยโดยรวมก็ค่อนข้างไม่มีความเท่าทันและไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับเรื่องนี้

 

ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาถึงปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ว่าสถานการณ์ปัญหาเป็นอย่างไร พื้นที่ใดมีระดับความรุนแรงแค่ไหนอย่างไร อุตสาหกรรมใดคือแหล่งก่อมลพิษที่สำคัญ ฯลฯ สถิติเชิงภาพรวมเท่าที่พอมีก็คือส่วนของการร้องเรียนปัญหา

 

จากการรวบรวมสถิติการร้องเรียนปัญหามลพิษในแต่ละปีจากทุกหน่วยงานของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนสูงที่สุด ตัวอย่างสถิติการร้องเรียนในปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีการร้องเรียนปัญหากลิ่นเหม็นสูงเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 43) และการร้องเรียนปัญหาฝุ่นละออง/เขม่าควัน สูงเป็นลำดับสอง (ร้อยละ 30) โดยแหล่งที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดก็คือโรงงานอุตสาหกรรม (ร้อยละ 59)[xvii]

 

และในอีกส่วนหนึ่ง เรามีปรากฏการณ์จำนวนไม่น้อยที่เข้มข้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และมีชีวิตคนจริงๆ ดำรงอยู่ในนั้น

 

ในบทความตอนที่ 2 จะได้ยกตัวอย่างปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบเด่นชัดและรุนแรง นำมาเล่าโดยย่นย่อจำนวน 3 กรณี ได้แก่ กรณีมลพิษอากาศจากกิจการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อ. แม่เมาะ จ. ลำปาง กรณีมาบตาพุด อ. เมือง จ. ระยอง และกรณีฝุ่น PM2.5 จ. สมุทรสาคร

 

 

เชิงอรรถ

 

[1] สถิติดังกล่าวสังเคราะห์มาจากฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จากการเข้าถึง http://www2.diw.go.th/factory/tumbol.asp เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่มีการปรับเปลี่ยนนิยามให้โรงงานที่มีเครื่องจักรไม่ถึง 50 แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่จัดเป็นโรงงาน เป็นเหตุให้นับตั้งแต่นั้นมา จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมตามความหมายของกฎหมายมีจำนวนน้อยลง

 

บรรณานุกรม

 

[i] กรมควบคุมมลพิษ. สิงหาคม 2561. โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

[ii] แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ห้า (พ.ศ. 2525-2529), น.131-133, 177

[iii] ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 18 พฤษภาคม 2549 เล่ม 123 ตอนที่ 50 ง.

[iv] กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, มลพิษทางอากาศ, คลังความรู้ อากาศ จากเว็บไซต์: https://datacenter.deqp.go.th/knowledge/อากาศ/มลพ-ษทางอากาศ/

[v] การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า, จากเว็บไซต์: https://www.egat.co.th/home/fuel

[vi] กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, อ้างแล้ว

[vii] กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, การศึกษาความเหมาะสมการควบคุมและกำจัดมลสารจากการใช้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม, รายงานฉบับสมบูรณ์ โดยบริษัทเซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี่ จำกัด และบริษัท บางกอก เอ็นยิเนียริ่ง เซอร์วิส แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด, กันยายน 2538, หน้า 3.

[viii] เรื่องสกปรกของถ่านหิน ผลกระทบของถ่านหินต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม, Coal Factsheet #1, หน้า 2, เว็บไซต์: https://endcoal.org/wp-content/uploads/2015/03/EndCoalDirtyFactsheet-D.pdf

[ix] สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือวิชาการ เรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ (Volatile Organic Compounds: VOCs), กันยายน 2555, หน้า 1.

[x] วราวุธ เสือดี (รศ.ดร.) จิราวรรณ จำปานิล (ดร.), แนวทางการจัดการสารอินทรีย์ระเหย VOCs (Volatile Organiz Compounds (VOCs), Management Guideline, กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กันยายน 2555, หน้า 58.

[xi] สถาบันไดออกซินแห่งชาติ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ไดออกซินคืออะไร, พฤษภาคม 2559, หน้า 5-6.

[xii] วราวุธ เสือดี, อ้างแล้ว, หน้า 13.

[xiii] สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, อ้างแล้ว, หน้า 5-6.

[xiv] พรพรรณ พนาปวุฒิกุล, โลหะหนัก : ตัวการปัญหาสิ่งแวดล้อม, เว็บไซต์ ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี, http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=7

[xv] ธีรนาถ สุวรรณเรือง, โลหะหนักปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพ, วารสารวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2563, หน้า 77, อ้างจาก The Agency for Toxic Substances and Disease Registry ATSDR (2016), U.S. Department of Health and Human Services Agency for Toxic Substances and Disease Registry Division of Toxicology and Human Health Services Environmental Medicine Branch.

[xvi] เพิ่งอ้าง

[xvii] คพ. เสริมศักยภาพหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPU) จัดการเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ฉบับที่ 88 วันที่ 2 กันยายน 2563, จากเว็บไซต์ http://www2.pcd.go.th/public/News/GetNewsThai.cfm?task=lt2020&id=19698 (เข้าถึงเมื่อ 14 เมษายน 2564)