ย้อนเหตุการณ์โคบอลต์-60 และภัยจากการแผ่กัมมันตภาพรังสี


กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, 15 มีนาคม 2566

สังคมไทยได้สัมผัสความน่ากลัวของสารกัมมันตรังสีและกัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมาเป็นครั้งแรก เมื่อแท่งโคบอลต์ 60 หลุดรอดออกจากสถานที่จัดเก็บของบริษัทกมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด และแผ่กัมมันตภาพรังสี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 10 ราย (บางรายพิการ ขณะที่หญิงมีครรภ์บางรายต้องทำแท้ง เพราะตรวจเลือดพบความผิดปกติ) ประชาชนละแวกใกล้เคียงในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน [1]

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2543 กลุ่มผู้รับซื้อของเก่าหรือ “ซาเล้ง” ได้ลอบนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ 60 ซึ่งมีสเตนเลสและตะกั่วห่อหุ้มออกจากลานจอดรถรกร้างของบริษัทกมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในซอยอ่อนนุช เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ก่อนนำไปขายให้แก่ร้านรับซื้อของเก่าชื่อ “สมจิตร” ในซอยวัดมหาวงศ์ จ.สมุทรปราการ

 

ต่อมาทางร้านสมจิตรได้แยกชิ้นส่วนสเตนเลสและตะกั่วออกไป เหลือเพียงแท่งโลหะทรงกระบอกเล็กๆ ถูกทิ้งไว้ในโกดังของร้าน โดยไม่ทราบว่าภายในคือสารโคบอลต์-60 (Cobalt-60) ซึ่งเป็นสารรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์ และได้แผ่กัมมันตภาพรังสีออกมาตลอดเวลา

 

16-17 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน คนงานในร้านสมจิตร 2 คนที่ร่วมกันแยกชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสีดังกล่าว มีอาการผิวคล้ำ ปากเปื่อย ผมร่วง มือบวมพอง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย จนต้องนำส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ และตรวจพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ แพทย์สงสัยว่าได้รับสารกัมมันตรังสี จึงได้รายงานกระทรวงสาธารณสุขและแจ้งต่อสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) ก่อนจะเข้าทำการเก็บกู้สารโคบอลต์-60 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์

 

ผลจากการตรวจสอบทำให้ทราบว่า เครื่องฉายรังสีดังกล่าวเดิมเป็นของโรงพยาบาลรามาธิบดี และเมื่อใช้งานจนเสื่อมสภาพก็ได้ซื้อเครื่องใหม่จากบริษัทกมลสุโกศลฯ โดยได้ขายเครื่องเก่าคืน ก่อนที่บริษัทจะขนย้ายเครื่องเก่ากังกล่าวไปเก็บไว้ในโรงจอดรถร้างของบริษัทซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล และไม่ได้แจ้งให้ พป. ทราบ

 

เมื่อแน่ชัดว่ามีผู้ป่วยจากสารกัมมันตรังสี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการรักษาผู้ได้รับผลกระทบ และพบว่ามีผู้ป่วยหนัก 10 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบอาชีพซาเล้งและคนงานในร้านสมจิตร โดยต่อมาได้เสียชีวิตไป 3 ราย ที่เหลือต้องพิการถูกตัดแขนและนิ้ว

 

ประชาชนที่พักอาศัยในรัศมีใกล้เคียงกับร้านสมจิตรถูกตรวจเลือดและพบว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำผิดปกติ จนทำให้หญิงมีครรภ์ 1 รายต้องทำแท้ง

เมื่อพบว่ากัมมันตภาพรังสีจากโคบอลต์-60 ร้ายแรงกว่าที่คาดคิด แรงกดดันจึงพุ่งไปยังหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ พป. ซึ่งมีหน้าที่ออกใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกและมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุกัมมันตรังสี รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้สารรังสี ทั้งการใช้ จัดเก็บ และสถานที่เก็บ

 

ต่อมา พป. ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทกมลสุโกศลฯ ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 มาตรา 12 และ 13 ระบุความผิดรวม 3 ข้อหาคือ

 

1. ไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่เก็บต้นกำเนิดรังสี

2. ไม่ได้จัดเก็บต้นกำเนิดรังสีให้ถูกต้องปลอดภัย โดยจัดเก็บในลักษณะประมาทเลินเล่อ ทำให้เสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน

3. เมื่อต้นกำเนิดรังสีสูญหายแล้ว ไม่แจ้งให้ พป. ทราบเพื่อดำเนินการตามมาตรการฉุกเฉินทางรังสี และเพื่อป้องกันอันตรายกับประชาชนโดยทั่วไป

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทกมลสุโกศลฯ ยอมรับเพียงข้อหาที่ 1 และไม่ยอมรับว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา ทั้งยังแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์กับกลุ่มซาเล้งที่ไปขโมยเครื่องฉายรังสีบริษัทออกมาจากสถานที่จัดเก็บ

 

ส่วนการชดใช้ค่าเสียหาย บริษัทกมลสุโกศลฯ ได้แบ่งเกณฑ์การช่วยเหลือออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ละแวกที่เกิดเหตุ โดยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ทั้งหมดโดยไม่มีข้อแม้ ส่วนกลุ่มซาเล้งและคนงานร้านสมจิตรจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริง  แต่ต่อมาบริษัทก็ได้มอบเงินให้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแก่กลุ่มซาเล้งและคนงานร้านสมจิตรรวม 10 รายๆ ละ 10,000 บาท และช่วยจัดงานศพให้แก่ผู้เสียชีวิต โดยระบุว่าเพื่อมนุษยธรรม พร้อมอ้างว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย เพราะเป็นผู้ไม่สุจริต

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้เข้าขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในการต่อสู้คดีฟ้องร้อง

 

14 กุมภาพันธ์ 2544 กลุ่มผู้เสียหายรวม 12 รายได้ยื่นฟ้องบริษัทกมลสุโกศลฯ ต่อศาลแพ่ง และต่อมาในวันที่ 7 มีนาคม 2544 ได้ฟ้อง พป.  โดยทั้งสองคดีได้ขอให้จำเลยหรือผู้ถูกฟ้องจ่ายค่าชดเชยความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น[2] และให้รับผิดชอบด้านสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะ พป. นั้น กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบยืนยันให้จ่ายค่าชดเชย 36,669,450 ล้านบาท ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐซึ่งต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

 

27 กันยายน 2545 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า พป. มีความผิดจริง และให้จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย 12 คน รวมเป็นเงิน 5,222,301 บาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ พป. จ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นเงินรวม 12,676,942 บาทพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้สําานักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติชําระค่าสินไหมทดแทน ให้ผู้เสียหายท้ังหมด รวมเป็นเงิน 5,222,301 บาท พร้อมดอกเบ้ียร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชําาระเสร็จ และให้สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคําาพิพากษาในส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคตภายในระยะเวลา ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่มีคําพิพากษา[3]

 

ด้านศาลแพ่งได้มีการต่อสู้คดีกันจนถึงศาลฎีกา โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยคิดค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดรวมเป็นเงิน 529,276 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และโจทก์ที่ 4 เสถียร พันธุ์ขันธ์ ที่ฟ้องให้บุตรชายที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวนั้น ศาลไม่ให้ค่าเสียหายเนื่องจากเคยได้รับค่าเสียหายจากศาลปกครองไปแล้ว[4]

 

Tag : โคบอลต์-60, กัมมันตรังสี, กัมมันตภาพรังสี, กมลสุโกศล

 


[1] ยกเว้นที่ระบุเป็นอย่างอื่น ข้อมูลในเนื้อหานี้อ้างอิงจาก มูลนิธิโลกสีเขียว, "หัวข้อโคบอลต์-60 แผ่รังสี", สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2542-43, หน้า 386-389. มูลนิธิโลกสีเขียว, "หัวข้อผลการเรียกร้องกรณีโคบอลต์-60", สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2544-45, หน้า 375-376. มูลนิธิโลกสีเขียว, "หัวข้อความคืบหน้าคดีโคบอลต์", สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2548, หน้า 352. และ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต (AEPS) , "อุบัติภัยทางรังสี กรณีโคบอลต์-60", มปพ.

[2] สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, "สรุปคําพิพากษาคดีโคบอลต์-60", วารสารปรมาณูเพื่อสันติ, ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2563, หน้า 23-25.

[3] ประชาไท,  "15 ปีคดีโคบอลต์-60 ศาลฎีกาให้บ.จ่าย 5 แสน ทนายชี้เอกชนรับผิดชอบน้อยไป", เว็บไซต์ประชาไท, 9 มิถุนายน 2559. https://prachatai.com/journal/2016/06/66223

[4] เพิ่งอ้าง.