อธิบดี กรอ. เจอเองกับตัว ยอมรับ น้ำบ่อใต้ดินชาวบ้านม่วงชุมเหม็นกลิ่นสารเคมี

อธิบดี กรอ. เจอเองกับตัว ยอมรับ น้ำบ่อใต้ดินชาวบ้านม่วงชุมเหม็นกลิ่นสารเคมี

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

20 กุมภาพันธ์ 2566

 

 

 

อธิบดี กรอ. ลงพื้นที่บ้านม่วงชุม อ. ศรีเทพ เพชรบูรณ์ ตรวจสอบมลพิษหลุมฝังกลบขยะ บจ. เอกอุทัย พร้อมทั้งรับฟังและลงสัมผัสความเดือดร้อนของชาวบ้าน ยอมรับน้ำใต้ดินในพื้นที่มีกลิ่นสารเคมีที่ผิดธรรมชาติ ก่อนรับปาก “จะแก้ปัญหาของประชาชนอย่างสุดความสามารถ”

 

วันนี้ (20 ก.พ. 66) จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้นำคณะข้าราชการส่วนกลางและท้องถิ่น ประกอบด้วยผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์, นายอำเภอศรีเทพ และ อบต. คลองกระจัง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชนหมู่ที่ 4 บ้านม่วงชุม ต. คลองกระจัง อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ หลังได้รับทราบการร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบด้านกลิ่นเหม็นและความผิดปกติในน้ำใต้ดินมากว่า 5 ปี หรือนับตั้งแต่ที่บริษัทเอกอุทัย จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการหลุมฝังกลบของเสียและการรีไซเคิลในพื้นที่ 

 

การลงพื้นที่เริ่มต้นที่วัดม่วงชุมศิริโรจน์ โดยคณะข้าราชการได้พบกับประชาชนในพื้นที่กว่า 80 คน ซึ่งได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มรักษ์ม่วงชุม” พากันมารอพบปะเพื่อร้องเรียนปัญหาและขอความช่วยเหลือ หลังจากที่อธิบดี กรอ. ได้เปิดให้ชาวบ้านได้แจ้งและบอกเล่าความทุกข์และความคิดเห็นเป็นรายบุคคลอยู่ช่วงหนึ่ง ทางตัวแทนกลุ่มฯ ก็ได้อ่านแถลงการณ์ตามหนังสือร้องเรียนที่เตรียมไว้

 

อรวรรณ์ พลละคร ในฐานะตัวแทนของกลุ่มฯ อ่านข้อความในหนังสือร้องเรียน ซึ่งได้สรุปความเป็นมาว่า ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่รุนแรง แต่หน่วยงานรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จนพวกตนตัดสินใจฟ้องศาลปกครองในเดือนพฤษภาคม 2565 ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ศาลได้พิพากษาให้หน่วยราชการที่ถูกฟ้องทั้งหลาย กำกับดูแลให้ บจ. เอกอุทัย ระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญภายใน 30 วัน และให้จัดทำแผนฟื้นฟูแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ปรับปรุงแก้ไขน้ำเสียภายในโรงงานให้ปลอดภัยก่อนปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ทำการอุดกลบบ่อบาดาลเพื่อป้องกันการปนเปื้อนไม่ให้แพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่น และรายงานผลการดำเนินการให้ศาลรับทราบจนกว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญจะหมดสิ้นไป

 

หนังสือดังกล่าวระบุต่อไปว่า แม้ศาลจะมีคำพิพากษา แต่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่พบว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และ บจ. เอกอุทัย ได้ดำเนินการแก้ไขและปรับปรุง ขณะเดียวกันกลับได้ยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาล

              

“ดังนั้นพวกขาพเจ้าทั้งหลาย จึงขอให้ท่านโปรดดำเนินการระงับการประกอบกิจการของบริษัทเอกอุทัย จำกัด ไว้จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ให้เสร็จสิ้น และเร่งรัดการตรวจสอบสาเหตุของการรั่วไหลของสารเคมี ที่ทำให้ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกลิ่นเหม็น และการกำกับดูแลมิให้มีการนำของเสียเข้ามาทิ้งในเขตพื้นที่โรงงาน” อรวรรณ์ปิดท้ายด้วยการอ่านข้อเรียกร้องของกลุ่มรักษ์ม่วงชุม

 

จากนั้นได้มีการมอบหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดี กรอ. ซึ่งอธิบดีจุลพงษ์ก็ได้ลงนามรับเอกสารข้อเรียกร้องดังกล่าวไว้ด้วย

 

ประชาชนบ้านม่วงชุม ณ วัดม่วงชุมศิริโรจน์ วันที่ 20 ก.พ. 66

ภาพถ่ายโดย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

 

หลังจากนั้น คณะหน่วยงานรัฐได้เดินทางไปยังบ้านของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและได้ตรวจสอบกลิ่นของน้ำใต้ดินจากบ่อน้ำใต้ดินบางจุด โดยจุดสุดท้ายคือบ้านที่อยู่ห่างจากโรงงานของ บจ. เอกอุทัย ประมาณ 200 เมตร บริเวณดังกล่าวพบว่ามีกลิ่นสารเคมี ซึ่งประชาชนบางส่วนระบุว่าเป็นกลิ่นเหม็นระดับอ่อนแล้ว หากเทียบกับที่พวกตนเคยประสบ

 

นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อมูลเสริมว่า บ่อน้ำใต้ดินในบ้านหลังนี้เคยมีการตรวจพบสารมลพิษหลายชนิด ส่วนครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ แม้ได้เลิกใช้น้ำใต้ดินไปแล้ว แต่ยังประสบปัญหาสุขภาพบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ได้รับกลิ่นเหม็น

 

ด้านจุลพงษ์กล่าวว่า น้ำจากบ่อน้ำใต้ดินของบ้านหลังนี้มีกลิ่นของ “ไฮโดรคาร์บอน” ซึ่งไม่ใช่สารที่พบได้ในธรรมชาติ

 

ทั้งนี้ สำหรับมลพิษที่ว่ามีการตรวจพบในน้ำใต้ดินบริเวณบ้านม่วงชุมได้แก่โลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งพบในระดับที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2543) โดยกลุ่มสาร VOCs ที่ตรวจพบนั้นมีสองตัวที่เป็นสารก่อมะเร็ง ตามการจำแนกขององค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้แก่ไวนิล คลอไรด์ (Vinyl Chloride) และเบนซีน (Benzene)

 

หน่วยงานรัฐตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชนบ้านม่วงชุม วันที่ 20 ก.พ. 66

ภาพถ่ายโดย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ซึ่งติดตามปัญหามลพิษในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2564 ระบุว่า ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษเคยตรวจพบสารไวนิล คลอไรด์ และเบนซีนในบ่อสังเกตการณ์ของโรงงานมาแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังได้มีรายงานออกมาในปี 2565 ระบุว่า สารอินทรีย์และสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่พบในบ่อน้ำตื้น น้ำคลองธรรมชาติ และน้ำบาดาลระดับลึกภายในหมู่บ้าน มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับคุณสมบัติทางเคมีของน้ำชะขยะภายในโรงงานของ บจ. เอกอุทัย

 

ส่วนอรวรรณ์กล่าวแสดงความเห็นแทนใจเพื่อนร่วมหมู่บ้านว่า ตนเชื่อว่าปัจจุบันข้อมูลผลตรวจในเอกสารต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงปัญหาในพื้นที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งชาวบ้านได้พยายามรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงถึงผลกระทบจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ ด้วยศักยภาพที่พวกตนทำได้ เอกสารทั้งหมดควรจะเพียงพอให้หน่วยงานรัฐลงมือแก้ไขปัญหาได้แล้ว แต่ที่ผ่านมา พบว่าหลายครั้งข้าราชการที่รับผิดชอบจะถูกเปลี่ยนตัวไป คนใหม่ที่เข้ามา เช่นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมคนปัจจุบันเป็นต้น ก็ต้องเข้าตรวจสอบปัญหาอีกครั้ง ซึ่งตนเข้าใจและเห็นใจ แต่ก็อยากให้หน่วยงานรัฐเห็นใจประชาชนที่ต้องอยู่กับปัญหานี้มาแล้วถึง 5 ปีด้วยเช่นกัน

 

ท้ายที่สุด จุลพงษ์กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ก่อนหน้านี้ตนได้เข้าไปดูหลายพื้นที่ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน และขอให้คำมั่นสัญญาว่า จะพยายามแก้ปัญหาของประชาชนอย่างสุดความสามารถ

 

หน่วยงานรัฐตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชนบ้านม่วงชุม วันที่ 20 ก.พ. 66

อธิบดี กรอ. ตรวจสอบน้ำใต้ดินที่ส่งกลิ่น "ไฮโดรคาร์บอน" วันที่ 20 ก.พ. 66

ภาพถ่ายโดย: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้เข้าตรวจสอบภายในโรงงานของ บจ. เอกอุทัย อีกด้วย

 

อนึ่ง ดังที่อธิบดี กรอ. กล่าว การลงพื้นที่บ้านม่วงชุมในวันนี้ ถือเป็นกรณีที่สามและครั้งที่สาม ที่ กรอ. ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรมและการประกอบกิจการอุตสาหกรรมโดยรวม ได้เข้าตรวจสอบปัญหามลพิษจากโรงงานรีไซเคิล/ฝังกลบของเสียที่ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งๆ ที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้มีการยับยั้งความเดือดร้อนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในกรณีเหล่านี้ไปแล้ว

 

อีกสองพื้นที่ที่ อธิบดี กรอ. นำคณะไปตรวจเยี่ยมถึงพื้นที่มาแล้วได้แก่ กรณีของ ต. น้ำพุ อ. เมือง จ. ราชบุรี และกรณีบ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง

 

การเคลื่อนไหวของกรมโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้การนำของอธิบดีจุลพงษ์ ผู้ซึ่งเพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อปลายปี 2565 จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากการประกอบกิจการด้านกากของเสียในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไรมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) จะคอยติดตามและนำเสนอผ่านทางเพจนี้ต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

คำพิพากษาคดีปกครองกรณีประชาชนบ้านม่วงชุมฟ้องหน่วยงานรัฐปิดหลุมฝังกลบขยะของ บจ. เอกอุทัย: https://earththailand.org/th/document/182

ความคืบหน้าการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมในพื้นที่บ้านหนองพะวา: https://earththailand.org/th/article/6813

ความคืบหน้าการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมใน ต. น้ำพุ: https://earththailand.org/th/article/6809