ศาลปกครองกลางยกฟ้อง คดีสารเคมีระเบิด 'คลองเตย' (18 พ.ค. 56)

ไทยรัฐออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2556
ศาลปกครองกลางยกฟ้อง คดีสารเคมีระเบิด 'คลองเตย'


เหตุการณ์เพลิงไหม้จากกรณีสารเคมีระเบิด บริเวณโกดังเก็บสินค้า ท่าเรือคลองเตย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534
ภาพ (ที่มา): เบญจรัชต์ เมืองไทย และคณะ, "พิษเพลิงเคมี: บันทึก 10 ปี...โศกนาฎกรรมคลองเตย",
กรุงเทพฯ: กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม, 2544.

ศาลปกครองกลาง ยกฟ้อง คดีชาวชุมชนคลองเตย ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สารเคมีระเบิด บริเวณโกดังเก็บสินค้า ท่าเรือคลองเตย ฟ้อง สธ.จัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ล่าช้า ชี้ เหตุไม่ละเมิดสิทธิด้านการรักษาพยาบาล

วันที่ 17 พ.ค. ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นางทัศนีย์ พรมบุตร พร้อมพวกรวม 91 คน ซึ่งเป็นชาวชุมชนคลองเตย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
สารเคมีระเบิด บริเวณโกดังเก็บสินค้า ท่าเรือคลองเตย เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2534 ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข รมว.สธ. กรมควบคุมโรค และอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 เพื่อขอศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมคลองเตย โดยมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรักษาพยาบาล และเยียวยาสมรรถภาพแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียโอกาสที่จะได้รับจากการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน

ส่วนเหตุที่ศาลยกฟ้องระบุว่า แม้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คลองเตยตามมติ ครม.เมื่อ 14 พ.ค.45 ล่าช้าเกินสมควร โดยมาตั้งในปี 2547 และไม่มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาประจำที่ศูนย์ฯ ก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด ก็ได้มีการวางแผนจัดระบบการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลสังกัดก ระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 91 คนอ้างว่า การจัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ ล่าช้าทำให้ต้องดิ้นรนไปรักษาตามโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งไม่สามารถใช้บัตรประกันสุขภาพได้ ต้องเสียเงินค่ารักษา เสียเวลาทำมาหากิน และเสียค่าพาหนะเดินทาง จึงไม่อาจรับฟังได้ ความเสียหายดังกล่าวไม่ได้เกิดจากผู้ถูกฟ้องทั้งหมดที่จัดตั้งศูนย์ อาชีวเวชศาสตร์ฯ ล่าช้า กรณีนี้จึงไม่เข้าเกณฑ์ การละเมิดตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดจึงไม่มีเหตุต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาดังกล่าวเสร็จสิ้น ตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางมารับฟังคำพิพากษากว่า 40 คน ต่างก็รู้สึกเสียใจที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว โดยนางทัศนีย์ก็กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็ทำใจอยู่บ้างแล้ว เพราะจริงๆ แล้วชาวบ้านไม่ได้ต้องการค่าชดใช้จากกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องการให้มีการตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ ที่สามารถปฏิบัติงานได้จริงขึ้นมารักษาดูแลชาวบ้าน ไม่ใช่ทำแบบขอไปทีเหมือนที่กระทรวงสาธารณสุขทำอยู่ในเวลานี้ คือใช้ห้องเก็บของมาเป็นที่ศูนย์ แล้วเอาป้ายติด ไม่มีแพทย์เฉพาะทางคอยรักษา ไม่มีอุปกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมา แม้ชาวบ้านจะเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแต่ก็ไม่สะดวก เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เมื่อรักษาแล้วก็ไม่สามารถนำใบเสร็จมาเบิกได้ และจนวันนี้ เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบทยอยเสียชีวิตไปแล้วกว่า 36 คน ที่เหลือบางคนก็เป็นโรคสมองฝ่อ ความจำเสื่อม ถึงขั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็มี อย่างไรก็ตาม ในช่วง 30 วันนี้ ทางตัวแทนชาวบ้านก็จะปรึกษากับทนายเพื่อยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป