"อัครา" ลุ้นต่อใบอนุญาต เหมืองทองคำ 13 พ.ค.นี้ (30 เม.ย.59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  30 เม.ย.59

"อัครา" ลุ้นต่อใบอนุญาต เหมืองทองคำ 13 พ.ค.นี้

ร้อนระอุยิ่งกว่าอุณหภูมิของอากาศเดือนเมษายน เมื่อเพื่อร่วมกันพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงของปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามคำสั่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากชาวบ้านมีข้อเรียกร้องให้ยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ และเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากว่า 7 เดือนแล้ว

ดึงญี่ปุ่นเร่งหาผลฝุ่นละออง

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ผลจากการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการ 5 ฝ่ายไปปฏิบัติงานพบว่า 

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านน้ำได้ทำการปรับปรุงระบบประปาไประยะเร่งด่วนแล้ว 16 แห่ง และติดตามผลทุก ๆ 6 เดือน แต่ยังพบว่า มีปัญหาการรั่วซึมของบ่อเก็บกาก ดังนั้นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 1 ชุด ซึ่งต้องเป็นผู้ชำนาญการด้านนี้โดยเฉพาะ และต้องเป็นผู้ที่มีเวลาทำงานเต็มเวลา ส่วนงานด้านฝุ่นได้มอบหมายให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจสอบ แต่ยังต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอีก โดยนำบริษัทญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีตรวจวัดฝุ่นละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจะต้องสรุปผลการศึกษาภายใน 2 เดือน

แมงกานีส-เหล็กเกินมาตรฐาน

นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้มีการตรวจสอบพบระบบประปาในพื้นที่ที่มีค่าแมงกานีสและเหล็กเกินมาตรฐาน 10 จุด จาก 49 จุด ปัญหาที่พบ ได้แก่ ฐานบ่อบาดาลสกปรก มีสนิมเหล็กในบ่อกองทราย ไม่มีการระบายตะกอน ส่วนระบบประปาที่มีความกังวล แม้จะเป็นจุดที่กรมอนามัยไม่พบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน แต่กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปตรวจสอบให้เกิดความปลอดภัย 

ข้อมูลจากคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ตลอดจนการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ข้อเท็จจริงที่สรุปได้ในเบื้องต้นพบว่า การตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาล พบเหล็กและแมงกานีสสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่สามารถบ่งชี้หรือสรุปได้แน่นอนว่ามาจากกิจกรรมของเหมืองหรือไม่ และแม้จะมีบางจุดที่ยังมีข้อสงสัย เช่น กรณีของฝุ่น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร

ด้านกรมควบคุมมลพิษตรวจพบว่า ข้าวและพืชผักที่มีการเพาะปลูกรอบเหมืองมีสารแมงกานีสปนเปื้อนเกินมาตรฐาน แต่ทางการแพทย์ระบุว่า สารแมงกานีสมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องรับในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้นจะต้องมีการคุมปริมาณการบริโภคของชาวบ้าน เพื่อไม่ให้มีการสะสมจนเกินปริมาณ 

ชาวบ้านแจงผลกระทบสุขภาพ

ตัวแทนชาวบ้านรอบเหมืองจึงเสนอให้รัฐทำแปลงเกษตรกลางนอกเหมืองซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีถือเป็นมาตรการระยะยาว แต่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมั่นใจว่าจะไม่มีสารปนเปื้อน ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน

ขณะที่ นางอารมย์ คำจริง ประธานเครือข่ายประชาสังคม และปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบรอบเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด อาทิ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ว่า ขณะนี้มีประชาชนเจ็บป่วยรอบเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด หลายคนส่วนใหญ่เป็นโรคมะเร็ง และก่อนหน้านี้ตั้งแต่พฤษภาคม 2558 ถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแล้ว 70 ราย และการดำเนินการแก้ไขไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงหลายประการ ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่ไม่เอาเหมืองแร่ทองคำขอคัดค้านสัมปทานทองคำ นโยบายทองคำ ร่าง พ.ร.บ.แร่ รวมถึงคัดค้านการต่อใบประกอบโลหกรรมทองคำ

ด้านกรมควบคุมมลพิษยังตรวจพบว่า ข้าวและพืชผักที่มีการเพาะปลูกรอบเหมืองมีสารแมงกานีสปนเปื้อนเกินมาตรฐาน แต่ทางการแพทย์ระบุว่า สารแมงกานีสมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องรับในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้นจะต้องมีการคุมปริมาณการบริโภคของชาวบ้าน เพื่อไม่ให้มีการสะสมจนเกินปริมาณ ทางด้านตัวแทนชาวบ้านรอบเหมืองจึงเสนอให้รัฐทำแปลงเกษตรกลางนอกเหมือง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี ถือเป็นมาตรการระยะยาว แต่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมั่นใจว่าจะไม่มีสารปนเปื้อน ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน

ลุ้นต่อใบอนุญาต 13 พ.ค.นี้

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กำลังจะหมดในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ทางบริษัทได้ยื่นเอกสารประกอบการขออนุญาตเรียบร้อย และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม

เหมืองทองแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการต่ออายุประทานบัตรแปลงหนึ่ง ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ได้เจาะจนลึกแล้ว หากต้องเจาะในพื้นที่เดิมจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ดังนั้น การต่ออายุประทานบัตรแปลงบริเวณข้าง ๆ จะสามารถทำเหมืองที่มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มทุน 

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการประมวลผลข้อเท็จจริงและผลการตรวจสอบประกอบการพิจารณาคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทหลังจากที่ประชุมไปแล้ว1 ครั้ง และรวบรวมส่งต่อให้ 4 กระทรวง พิจารณาร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันหมดอายุของใบอนุญาต โดยจะให้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างรอบคอบ หากมีการพิจารณาไม่ต่อใบอนุญาตนั้น การทำงานของเหมืองจะหยุดไปโดยปริยาย 

อาจส่งผลกระทบต่อคนทำงานในเหมืองตกงานกว่า 1,000 คน หากมองในแง่ของความคุ้มทุน นอกจากจะสูญเสียรายได้ในประเทศแล้ว ยังทำให้คนในพื้นที่ไม่มีงานทำ ทั้งนี้คณะกรรมการและหน่วยงานทุกฝ่ายต้องพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย