บูรณะนิเวศ (EARTH) - อาร์นิกา ชี้ ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในไทยรุนแรงขึ้น ถึงเวลาใช้ "PRTR" (6 เม.ย. 64)

กองบรรณาธิการบูรณะนิเวศ 6 เมษายน 2564
บูรณะนิเวศ (EARTH) - อาร์นิกา ชี้ ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในไทยรุนแรงขึ้น ถึงเวลาใช้ "PRTR" 


บูรณะนิเวศ (EARTH) - อาร์นิกา เผยสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยภายใต้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมรุนแรงหนัก ทั้งมลพิษอากาศ การปนเปื้อนสารมลพิษในแหล่งน้ำ พื้นดิน และการสะสมสารอันตรายในอาหาร โดยเฉพาะใน EEC - ชี้ ถึงเวลาที่ไทยควรมีกฎหมาย PRPR

6 เมษายน 2564 มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และสมาคมอาร์นิกา ประเทศสาธารณรัฐเช็ก ได้เปิดเผยถึงผลการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยภายใต้ “โครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อสร้างความโปร่งใสในการจัดการมลพิษอุตสาหกรรม”​  โดยระบุว่า ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในประเทศไทยรุนแรงหนักมากขึ้น ทั้งปัญหามลพิษอากาศ การปนเปื้อนสารมลพิษในแหล่งน้ำและพื้นดิน รวมถึงการสะสมของสารอันตรายในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พัฒนาพิเศษ หรืออีอีซี (EEC) และจังหวัดใกล้เคียง  โดยปัญหาเหล่านี้เกิดจากการปล่อยปละละเลยในการกำกับดูแลการจัดการมลพิษต่างๆ เช่น ขยะอุตสาหกรรมอันตราย มลพิษอากาศ และน้ำเสียจากโรงงาน

นอกจากนั้นยังระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมสกปรกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมรีไซเคิลของเสียอันตราย โดยเฉพาะในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดใกล้เคียง และชี้ว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการพัฒนากฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) สำหรับใช้แก้ปัญหามลพิษโดยตรงเหมือนเช่นที่ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอื่นๆ ได้ทำสำเร็จมาแล้ว

ทั้งนี้ การเปิดเผยดังกล่าวยังระบุด้วยว่า จากการติดตามปัญหาในพื้นที่มลพิษหลายแห่งของประเทศไทย พบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมมักจะไม่ได้รับข้อมูลหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของสารมลพิษต่างๆ ที่ถูกปลดปล่อยออกมาในแต่ละวัน ซึ่งหมายความว่าชุมชนไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่ามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงนั้นมีอะไรบ้าง และจะส่งผลอย่างไรต่อดิน น้ำ อากาศ แหล่งอาหาร ทำให้ไม่สามารถปกป้องตนเองจากมลพิษที่คุกคามสุขภาพและทรัพยากรในชุมชนได้เลย

โดยในกรณีของชาวประมงในจังหวัดระยองพบว่า ปลาในทะเลที่จับได้มีลักษณะผิดปกติจนรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะนำไปรับประทาน รวมทั้งพบเหตุการณ์ปลาตายอย่างผิดสังเกตบ่อยครั้ง โดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะเดียวกันก็มีการตรวจพบว่าสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารพิษร้ายแรงและสะสมได้ยาวนานในสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมในพื้นที่

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า

     “ถึงเวลาที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่ใช้กำกับให้มีการส่งรายงานมลพิษที่ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลมลพิษและสารเคมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาครัฐในการใช้ติดตามตรวจสอบ แก้ไข และวางแผนป้องกันปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  ขณะเดียวกันก็จะทำให้ลดการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม และป้องกันไม่ให้สารเคมีรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม  นอกจากนั้น กฎหมายนี้ยังจะช่วยส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาและปกป้องตนเองจากภัยคุกคามของมลพิษได้โดยตรง รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยคลี่คลายคดีสิ่งแวดล้อมได้รวดเร็วขึ้น เช่น กรณีชุมชน ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี ที่ต้องร้องเรียนถึงปัญหาและผลกระทบของมลพิษที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด นานเกือบ 20 ปี ซึ่งหากประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR ปัญหาเช่นนี้ก็จะถูกตรวจสอบได้โดยง่าย และลดน้อยลงไป

     หรือกรณีชุมชนบ้านแลง อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้นใกล้บ้าน ประชาชนในพื้นที่ก็ได้เปิดเผยกับเราว่า รัฐบาลปล่อยให้อากาศของพวกเขาถูกทำลายโดยอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานาน ควรเลิกปล่อยให้โรงงานทำแบบนี้อีกต่อไป และเมื่อได้ศึกษาเกี่ยวกับ PRTR พวกเขาก็อยากจะเห็นระบบที่มีมาตรฐานเหมือนกับในหลายประเทศอุตสาหกรรม ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เกิดขึ้นในเมืองไทย เขาบอกว่า เขามีสิทธิ์ที่จะหายใจเอาอากาศที่สะอาดและปลอดภัยเหมือนในประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ”

ด้านมิโรสลาวา ยอพคอวา ผู้ประสานงานสมาคมอาร์นิกา กล่าวว่า

     “ทางอาร์นิกาได้สนับสนุนการรณรงค์เรื่องกฎหมาย PRTR ในประเทศไทยด้วยการผลิตวีดิโอเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกเผยแพร่ในต่างประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาและสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ซึ่งสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้หากประเทศไทยมีการพัฒนากฎหมายขึ้นมาใช้ เช่นเดียวกับสาธารณรัฐเชกและอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป อันจะนำมาซึ่งการตรวจสอบและติดตามการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้มีการนำเสนอร่างกฎหมาย PRTR หรือ “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ปรับปรุงจากการยกร่างร่วมกันของมูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม โดยต่อมา และมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564

----------------------------------------------------

"โครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อสร้างความโปร่งใสในการจัดการมลพิษอุตสาหกรรม" เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิบูรณะนิเวศและสมาคมอาร์นิกา ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2558 และขณะนี้เข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ โดยมีผู้สนับสนุนทุนดำเนินงานคือ นักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สหภาพยุโรป กระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐเชกภายใต้โครงการ Transition Promotion Program

(ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.earththailand.org/en/ และ https://english.arnika.org/thailand)

----------------------------------------------------

สมาคมอาร์นิกา | มิโรสลาวา ยอพคอวา – ผู้ประสานงานโครงการ: miroslava.jopkova@arnika.org, www.arnika.org/en

มูลนิธิบูรณะนิเวศ | เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง – ผู้อำนวยการ: penchom.earth@gmail.com, www.earththailand.org/en

สมาคมอาร์นิกา | มาร์เกตตา โดซูดิโลวา – ฝ่ายประสานงานต่างประเทศ: marketa.dosoudilova@arnika.org