ปักธง "ส่งขยะกลับบ้าน" รับพลาสติก-ขยะหน้ากากใช้แล้วส่งกำจัด (23 เม.ย. 63)

Thai PBS 23 เมษายน 2563
ปักธง "ส่งขยะกลับบ้าน" รับพลาสติก-ขยะหน้ากากใช้แล้วส่งกำจัด

"วราวุธ" จับมือภาคเอกชนและเครือข่าย TRBN ทำโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” รองรับขยะช่วง COVID-19 สูงขึ้น 15% โดยเฉพาะพลาสติกจากบริการเดลิเวอรี ขยะอาหาร และขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว นำร่องถนนสุขุมวิท เริ่ม พ.ค.นี้

วันนี้ (23 เม.ย.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลให้ปริมาณขยะหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) มีขยะเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 จากการใช้บริการรับส่งอาหารเดลิเวอรีที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เพราะคนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน และโรงเรียนหยุด

“ขณะที่ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร พบขยะอาหาร และขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเพิ่มขึ้นถึง 1,500 กิโลกรัมต่อวัน”

นายวราวุธ กล่าวว่า ปริมาณขยะเป็นเรื่องวิกฤตซ้อนวิกฤต ต้องเร่งรับมือ และจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยทส. ร่วมกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ร่วมกันโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” โดยเกิดจากแนวคิดที่ทุกครัวเรือนคือต้นทางที่สามารถมีส่วนรวมลด และจัดการกับปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เพิ่มขึ้นได้ง่าย และทำได้ทันที คือ รณรงค์ให้ครัวเรือนร่วมกันแยกขยะติดเชื้อและรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไป

เรียกคืนขยะพลาสติก-จัดการถูกวิธี

รมว.ทส.กล่าวว่า ช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ ทำโมเดลนำร่องระบบ “การเรียกคืนขยะพลาสติก” บนถนนสุขุมวิท เพื่อลดปริมาณขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต เช่น เทสโก้ โลตัส สาขาอ่อนนุช และกูร์เมต์ มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ เป็นจุดรับขยะพลาสติกจากผู้บริโภค เพื่อเข้าสู่เครือข่ายผู้ให้บริการและขนส่งทรัพยา กรไปยัง “Waste Hub” แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล คาดว่าจะขยายผลโมเดลเรียกคืนขยะพลาสติกไปสู่ถนนอื่นๆได้ในอนาคต

อยากขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเท่าที่มีความจำเป็น ลดขยะพลาสติกและแยกขยะเพื่อนำกลับมารีไซเคิล 

“ส่วนขยะอาหาร ขยะหน้ากากอนามัย ที่ใช้แล้วขอความร่วมมือประชาชนให้แยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับพนักงานเก็บขยะและลดภาระบ่อฝังกลบ”

ทั้งนี้ หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทส.จะเริ่มรณรงค์ลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกครั้ง เพื่อช่วยลดการเกิดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก หากมีความจำเป็นต้องใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอยากให้ร่วมกันคัดแยกขยะให้สามารถนำขยะกลับมารีไซเคิลได้ใหม่


อ่านข่าวเพิ่ม ขยะเดลิเวอรีช่วง WFH พุ่ง 15%