เอาถ่านหรือไม่เอาถ่าน (21 มี.ค. 63)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 21 มีนาคม 2563
เอาถ่านหรือไม่เอาถ่าน

คอลัมน์:Energy@Than โดย:ศ.ดร.พรายพล  คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถ่านหินมีบทบาทสำคัญในภาพรวมของพลังงานไทยมาโดยตลอด ในปัจจุบันการใช้ถ่านหินโดยรวมของประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือลิกไนต์ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพตํ่าสุด และมีการค้นพบในประเทศเป็นจำนวนมาก จึงถูกนำมาใช้ก่อนในโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรม

ต่อมาจึงมีการนำเข้าถ่านหินกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นประเภทถ่านหินที่มีคุณภาพสูงกว่า คือมีค่าความร้อนต่อตันเป็นกว่า 2 เท่าของลิกไนต์ เผาแล้วก่อให้เกิดเถ้าและฝุ่นละอองน้อยกว่าลิกไนต์ ถ่านหินที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่เป็นประเภทซับบิทูมินัสและบิทูมินัส โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากอินโดนีเซียและออสเตรเลีย

ด้านปริมาณการใช้ถ่านหิน (คิดตามหน่วยค่าความร้อน) ไทยใช้ถ่านหินลิกไนต์มากกว่าถ่านหินนำเข้าในช่วงแรกๆ แต่ปริมาณถ่านหินนำเข้าก็ได้เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถแซงหน้าลิกไนต์ได้ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ในปัจจุบันถ่านหินนำเข้ามีปริมาณเป็น 3-4 เท่าของลิกไนต์แล้ว

ปัจจุบันลิกไนต์ส่วนใหญ่ถูกใช้ในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ส่วนใหญ่ของถ่านหินนำเข้าจะถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์) ส่วนที่เหลือของถ่านหินนำเข้านำไปเป็น

เชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของเอกชน (ทั้งโรงขนาดใหญ่ หรือ IPP และโรงขนาดเล็กหรือ SPP)

ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ไทยมีปริมาณสำรองของลิกไนต์ประมาณ 1,000 ล้านตัน และด้วยอัตราการใช้ในปัจจุบันไทยจะมีเหลือใช้ไปได้อีก 72 ปี ซึ่งก็นับว่ายังเหลือให้ใช้ไปได้อีกไม่น้อยเลย

แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาในอดีตของโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะเกี่ยวกับฝุ่นควันที่มีต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียง ทำให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมีภาพลักษณ์ที่เลวร้ายในสายตาของคนไทยจำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันปัญหาของโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะจะบรรเทาเบาบางลงไปและผู้ที่สนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ๆ จะให้ข้อมูลว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (clean coal technology) จะไม่สร้างมลพิษเหมือนกับที่แม่เมาะก็ตาม แต่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทุกแห่งในประเทศก็มักจะได้รับการต่อต้านอย่างแข็งขัน ทั้งจากชุมชนในพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้า และจากกลุ่มที่ต่อต้านการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ แรงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไม่สามารถใช้ถ่านหินได้ในสัดส่วนที่มากขึ้นและการใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรมก็อาจจะได้รับแรงต่อต้านอีกด้วย จึงคาดได้ว่าไทยจะเผาถ่านหินน้อยลงในอนาคต ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ที่ห่วงใยในปัญหาภาวะโลกร้อน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2563