เชียงใหม่วิกฤติ PM 2.5 ทะลุ 715 ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (15 มี.ค. 63)

ไทยรัฐออนไลน์ 15 มีนาคม 2563
เชียงใหม่วิกฤติ PM 2.5 ทะลุ 715 ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อากาศภาคเหนือเลวร้ายหนัก ฝุ่นพิษจากไฟป่าพุ่งพรวด เชียงใหม่ค่า PM 2.5 อ.อมก๋อย สูงถึง 715 มคก./ลบ.ม. สูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนในตัวเมือง 445 ประชาชนต้องหลบอยู่ในบ้าน เจ้าหน้าที่ต้องเร่งปรับแผนเชิงรุก เข้า X-ray ทุกหมู่บ้านที่ลักลอบเผาป่าซ้ำซาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 15 มี.ค.นี้ สภาพอากาศใน จ.เชียงใหม่ ยังคงมีหมอกควันฟุ้งกระจายทุกอำเภอ จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศในแอปพลิเคชัน (AirCMI) ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 วัดได้ 445 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ทำให้ท้องฟ้าเต็มไปด้วยหมอกควัน ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังหลงเหลืออยู่ต้องหลบตัวอยู่ภายในบ้านและตามห้างสรรพสินค้าที่กำหนดไว้เป็นเซฟตี้โซน

. คุมเข้มขยะปนเปื้อนโควิด เคทีกําหนดมาตรการพิเศษรองรับจาก 7 สถานพยาบาล

. เชียงใหม่หมอกควันไฟป่าในอำเภอวิกฤติ ผู้ว่าฯ สั่งคุมเข้มห้ามเผาเด็ดขาด

. ฝนตกเมื่อคืน ทำให้หมอกควันเชียงใหม่ ค่า PM 2.5 ลดลง แต่เชียงดาวยังหนัก

โดยในห้วงเวลานี้เชียงใหม่ถูกจัดให้เป็นเมืองอันดับ 1 มลพิษของโลกติดต่อกัน 3 วันซ้อน โดยทิ้งคู่แข่งอันดับ 2 ถึงเท่าตัว และอำเภอที่ค่าฝุ่นละอองพุ่งขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ของเชียงใหม่ก็คือ อำเภออมก๋อย ซึ่งอยู่ติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน มีค่าฝุ่นละอองสูงถึง 715 มคก./ลบ.ม. เป็นอันดับ 1 ของเชียงใหม่ ทั้งๆ ที่การเผาป่าของ อ.อมก๋อย น้อยกว่าทุกอำเภอ โดยถูกควันไฟจากจังหวัดใกล้เคียงพัดเข้ามา

จากปัญหาฝุ่นควันขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่ลอยปกคลุมหนาทึบทั่วเมืองเชียงใหม่ต่อเนื่องมานานหลายวัน มณฑลทหารบกที่ 33 ได้จัดส่งรถบรรทุกน้ำ 3 คัน จากหน่วยขึ้นตรงในสังกัด ประกอบด้วย รถบรรทุกน้ำขนาด 4,000 ลิตร ของมณฑลทหารบกที่ 33, รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร ของกองพันสัตว์ต่าง กรมการสัตว์ทหารบก และรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร ของกองพันพัฒนาที่ 3 ช่วยออกฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ บริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร โดยเฉพาะที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวอยู่หนาแน่น เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นควันที่สะสมอยู่ในบริเวณโดยรอบ ลดผลกระทบจาก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ด้านการดำเนินการแก้ไขฝุ่นละอองไฟป่าเชียงใหม่ เมื่อเวลา 10.30 น. วันเดียวกันนี้ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รอง ผวจ.เชียงใหม่ เรียกประชุมศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการดำเนินงาน ประเมินสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ รวมทั้งวางแผนการดับไฟป่าและกำลังลาดตระเวนในแต่ละอำเภอที่มีจำนวนจุด Hotspot เกิดขึ้นซ้ำซากต่อเนื่อง หลังจากนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานสนธิกำลังร่วมกัน เร่งเข้าควบคุมและดับไฟอย่างเต็มที่ และเฝ้าระวังการเกิดไฟในพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติหมอกควันที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ทำให้จุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทยลดลงกว่าร้อยละ 50 แต่ยังคงพบจุดความร้อนและหมอกควันหนาแน่นมากในประเทศเพื่อนบ้าน

รวมถึงหมอกควันจากภาคเหนือตอนล่าง ถูกลมพัดมาเติมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคเหนือตอนบน ซึ่งได้รับอิทธิพลลมใต้พัดขึ้นมา ทำให้ยังวิกฤติต่อเนื่อง ฝุ่นละอองสะสมมากและเพิ่มสูงขึ้น จนอาเซียนได้ประกาศยกระดับปัญหาหมอกควันข้ามแดน และเร่งหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาตามกลไกของข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ภายใต้สถานการณ์ระดับ 3 (สถานการณ์วิกฤติ) โดยประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขงจะต้องรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานภายใน 11.00 น. ของทุกวัน และรณรงค์ประชาสัมพันธ์งดการเผาป่า เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ปรับมาตรการคุมเข้มเชิงรุกลงลึกถึงในหมู่บ้าน โดยให้นำกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ชรบ.หมู่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนชุดหาของป่าล่าสัตว์ บูรณาการกำลังร่วมลงพื้นที่ X-ray ทุกหมู่บ้านที่เสี่ยงและเกิดไฟซ้ำซากในอำเภอโซนเหนือ ได้แก่ อำเภอเชียวดาว แม่แตง พร้าว เวียงแหง ฝาง แม่อาย และไชยปราการ พร้อมทั้งได้จัดชุดลาดตระเวน เน้นพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน (เชียงดาว ฝาง แม่อาย ไชยปราการ และเวียงแหง) ตลอดจนให้จัดชุดดับไฟป่าจากกรมป่าไม้ ฝ่ายปกครอง อปท.จิตอาสาร่วมปฏิบัติหน้าที่ควบคู่กับการลงไปในชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน และมาตรการห้ามเผาในที่โล่งจนถึงวันที่ 30 เมษายน หากใครฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างจริงจัง และจังหวัดยังพร้อมสนับสนุนอากาศยานดับเพลิงจาก ปภ., ทอ., กระทรวงทรัพฯ และ ทบ. สนับสนุนภารกิจในแต่ละพื้นที่ทันที.