ฝุ่นเล็ก ผลกระทบไม่เล็ก แพทย์เผยร้ายแรงถึงเสียชีวิต ประชาชนรวมตัวแก้ไม่รอรัฐ

greennews 20 ธันวาคม 2562
ฝุ่นเล็ก ผลกระทบไม่เล็ก แพทย์เผยร้ายแรงถึงเสียชีวิต ประชาชนรวมตัวแก้ไม่รอรัฐ

ฝุ่นเล็ก ผลกระทบไม่เล็ก แพทย์เผย  PM2.5 ตัวการหลายโรคร้ายถึงขั้นเสียชีวิต ตัวแทนโรงเรียนและโรงแรมรายย่อยยืนยันผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ ด้านเครือข่ายภาคประชาชนและวิชาการเดินหน้าผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นสู่นโยบาย

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค. 62) เครือข่ายภาคประชาชนและวิชาการ “เครือข่ายอากาศสะอาดแห่งประเทศไทย” (Thailand Clean Air Network) จัดเสวนาเรื่อง “PM2.5 ฝุ่นขนาดเล็กกับผลกระทบที่ไม่เล็กต่อสังคมไทย” ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นับเป็นส่วนหนึ่งในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 

รองศาสตราจารย์ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยฝุ่น PM2.5 มีผลต่อสุขภาพเหมือนการสูบบุหรี่ ฝุ่นขนาดจิ๋วนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายเราได้ โดยหากเป็นฝุ่นขนาด 10 ไมครอนขึ้นไปจะถูกดักจับในปากและจมูก แต่ถ้าขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนลงไปจะเข้าได้ถึงหลอดลมและถุงลม จากนั้นอาจแทรกซึมผ่านเส้นเลือดฝอยที่ถุงลมและนำสู่กระแสเลือด เข้าสู่อวัยวะส่วนต่างๆ เช่น หากเข้าหัวใจ เกิดความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวาย เมื่อเข้าสู่สมอง ทำให้สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง และหากเข้าสู่ไตจะเป็นเหตุให้ไตเสื่อม นอกจากนั้นฝุ่นจิ๋วยังทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอยและเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากยิ่งขึ้น

“เราอยู่ในช่วงเวลาที่เป็นปัญหา ต้องบริหารจัดการกิจกรรมชีวิต ช่วยลดฝุ่นและป้องกันตัวเองและคนที่เรารัก เช่น เด็กเล็กกับผู้ป่วยเรื้อรัง” 

นิธิพัฒน์เล่าว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งในไทยกำลังศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 งานวิจัยของโรงพยาบาลศิริราช ระหว่างปี 2559-2561 แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยถุงลมโป่งพองกำเริบมีจำนวนมากขึ้นช่วงเดือนที่ฝุ่น PM2.5 สูง โดยปกติช่วงเดือนดังกล่าวเป็นฤดูอากาศแห้ง ไม่ควรมีผู้ป่วยจากอาการถุงลมโป่งพองมากเท่ากับหน้าฝน

ปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลสถิติการเสียชีวิตเพราะฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย เพราะต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการเก็บข้อมูล ทว่างานวิจัยจากต่างประเทศได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการตายในเมืองใหญ่และปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้น แล้วค้นพบว่าการตายจากโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด หัวใจขาดเลือด มีอัตราเพิ่มขึ้น 0.68% ต่อทุกๆ การเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM2.5 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

“ผมอยากบอกทุกคนว่าอย่าติดกับคำว่า ‘ฝุ่น’ ช่วงนี้ฝุ่นเยอะ ช่วงนี้ฝุ่นน้อย  เราควรสงสัยอะไรที่อยู่ใน PM2.5 ต่างหาก เพราะว่าความเป็นพิษที่แท้จริงเรามองไม่เห็น สิ่งที่น่ากลัวคือเราสูดอะไรเข้าไปก็ไม่รู้”

ศาตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ นักวิจัยด้านมลพิษทางอากาศ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวเสริม PM2.5 ประกอบไปด้วยสารหลายอย่าง เช่น โลหะหนักที่สามารถก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงยังมีสารก่อมะเร็ง เขาเน้นให้ประเทศไทยใส่ใจกับการทำงานวิจัยมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันการศึกษาเรื่องดังกล่าวในไทยยังมีไม่มากพอ มีคนทำได้น้อย อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง 

ด้าน กฤษฎิ์ บัวเผื่อน ตัวแทนเครือข่ายพ่อแม่ตื่นรู้สู้ภัยฝุ่นและครูจากโรงเรียนรุ่งอรุณ เล่าถึงประสบการณ์รับมือกับวิกฤตฝุ่นในสถานศึกษาเมื่อปีก่อน แม้โรงเรียนจะมีมาตราการป้องกันทันทีหลายประการ เช่น เลื่อนเวลาเข้าเรียนให้ช้าขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงจราจร แต่ฝุ่น PM2.5 ได้สร้างผลกระทบอีกหลายอย่าง เด็กเล็กที่อยู่ในวัยเล่นและต้องการปลดปล่อยพลังงาน ไม่สามารถออกไปเล่นกลางแจ้งได้ ขณะที่เด็กโตอึดอัดกับการสวมหน้ากาก ไม่สามารถเล่นกีฬาได้ ทำให้เด็กไม่รู้สึกอยากมาโรงเรียนเหมือนเดิม 

ขณะเดียวกัน รุจิพัฒน์ สุวรรณสัย ตัวแทนผู้ประกอบการโฮมสเตย์รายย่อยจากเชียงใหม่ ชี้ปัญหาฝุ่นกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปเพราะข่าวฝุ่นส่งผลให้ชาวเชียงใหม่ซึ่ง 70% มีรายได้จากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ แม้หมอกควันทุเลาลงแล้ว แต่ยังคงมีผลต่อเนื่องเพราะเมืองเชียงใหม่ได้ภาพลักษณ์ใหม่คือเมืองอากาศเป็นพิษ

เครือข่ายอากาศสะอาดซึ่งประกอบไปด้วยภาคประชาชนและวิชาการกำลังดำเนินการผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่นผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษานำปัญหาฝุ่นมาต่อยอดสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ปัจจุบันเครือข่ายกำลังขับเคลื่อนการร่างกฏหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่จัดการปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเจาะจงมากกว่าพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม