เครือข่ายต้านสารพิษบุกทวงสัญญา‘มนัญญา’ ประกาศแบนสิ้นปีนี้ (9 ก.ย. 62)

แนวหน้าออนไลน์ 9 กันยายน 2562
เครือข่ายต้านสารพิษบุกทวงสัญญา‘มนัญญา’ ประกาศแบนสิ้นปีนี้

เครือข่ายต้านสารพิษบุกทวงสัญญา‘มนัญญา’ ประกาศแบนสิ้นปีนี้

9 กันยายน 2562 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(10 กันยายน 2562) เครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด 686 องค์กร จะมาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเข้าพบ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนให้มีการแบนสารพิษ 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟรเซส คลอร์ไพริฟอส ในสิ้นปีนี้ ตามคำให้สัมภาษณ์ของ รมช.เกษตรฯ รวมทั้งยังที่ได้ให้นโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการกรมวิชาการเกษตรไว้เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งรมช.เกษตรฯ

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายกว่า 30 คนมาเข้าพบครั้งนี้ เพื่อต้องการจะเสนอแนะต่อ รมช.เกษตรฯในเรื่องการหามาตรการสนับสนุนเกษตรกร ที่ต้องการปรับเปลี่ยนทำเกษตรโดยไม่ใช้สารพิษร้ายแรง ทั้งนี้กรณีที่รมช.เกษตรฯได้ประกาศตั้งกรรมการพิจารณาผลกระทบการใช้สารเคมี 3 ชนิด ภายใน 15 วันทางเครือข่ายไม่เห็นด้วยเพราะการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาผลกระทบได้ตั้งหลายรอบแล้ว ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ผลสรุปชัดเจนอยู่แล้วว่ามีผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นให้คณะกรรมการชุดของ รมช.เกษตรฯ มุ่งไปสู่เรื่องการหามาตรการทดแทนการใช้สารเคมี และมาตรการสนับสนุนเกษตรกร ปรับเปลี่ยนวิธีทำเกษตรโดยไม่พึ่งสารเคมี

“มาตรการทดแทนมีหลายมาตรการ เช่น การใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือกลทางการเกษตร การจัดระบบปลูกพืช การใช้พืชคลุมดิน ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตร ที่ผ่านมามีงานวิจัยและมาตรการการทดแทนใช้สารเคมี ไว้เป็นจำนวนมากแต่กลับไม่ถูกนำเสนอขึ้นมา  อีกทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ขณะนี้มีประสบการณ์มากมาย ของเกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่ทำเกษตรประสบความสำเร็จโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯไม่สนใจ วิธีการเหล่านี้จะผลัดดันลงพื้นที่ให้ถึงเกษตรกรไทยและจริงๆมีหน่วยงานดูแลทำเรื่องนี้ในกรมวิชาการเกษตร ไม่ดึงมาดำเนินการโดยตรง ในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชนและเกษตรกร จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้กระทรวงเกษตรฯอย่าโยนภาระให้กระทรวงอื่นในเรื่องการแบนสารพิษเพราะเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร โดยตรงที่จะไม่อนุญาตนำเข้าสารเคมี และเสนอให้มีการแบนตามขั้นตอน ไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับข้อเสนออย่างน้อยสองในเรื่องมาตรการทางเลือก วิธีทดแทนสารเคมี มีความเสี่ยงสูง และมาตรการสนับสนุนเกษตร บางส่วนที่ต้องการได้รับการสนับสนุน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนของนโยบาย ว่าจะสนับสนุนอย่างไรเพราะเกษตรกรบางกลุ่ม บอกว่าถ้าใช้เครื่องจักรกล ต้นทุนแพง ก็จะต้องมีทางเลือกทดแทนไว้ให้ด้วย

“ครั้งนี้เป็นการพิสูจน์รัฐบาล เอาจริงหรือไม่เอาในการแบนสารพิษ ซึ่งเสียงประชาชนเรียกร้องให้แบนมีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และพิสูจน์ตัวเองของ รมช.มนัญญา ด้วยที่รับปากไว้จะทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งผมได้ข่าวขณะนี้เหมือนกับ หน่วยงานข้างล่าง ไม่สนับสนุนนโยบายรมช.เกษตรฯเต็มที่ และข้างบนดูเงียบๆ ดังนั้นการขับเคลื่อนของประชาชน จะมีผลให้ตัดสินใจเรื่องนี้ ร่วมทั้งบรรยากาศการเมืองเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เห็นว่าสิ่งที่แถลงนโยบายไว้ ถ้าไม่ทำอะไรจะมีผลกระทบทางการเมืองทันที พรุ่งนี้มาพบเพื่อสนับสนุน การแบนสารพิษร้ายแรงภายในสิ้นปี พร้อมเสนอแนะขบวนการทำงานขั้นตอนต่อไป เพราะถ้าไปดูพื้นที่จริงๆคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่เกษตรกรส่วนใหญ่ ซึ่งควรเปลี่ยนวิธีสนับสนุนอย่างไรโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน” นายวิฑูรย์ กล่าว