‘บิ๊กเต่า’ สั่งเร่งแก้ปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ จริงจัง (8 ก.ค. 61)

มติชนออนไลน์ 8 กรกฎาคม 2561
‘บิ๊กเต่า’ สั่งเร่งแก้ปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ จริงจัง

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เข้าร่วมการประชุม ASEAN-China Workshop on Marine Environmental Protection (MMS) ในหัวข้อ Marine Microplastic Symposium ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 กรกฎาคม ณ เมืองกุ้ยหยาง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายโสภณ ทองดี รองอธิบดี ทช. เป็นผู้เเทนเข้าร่วมประชุมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและจากทั่วโลกทั้ง 35 ประเทศ รวมกว่า 3,500 คน ทั้งนี้ น.ส.นฤมล กรคณิตนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน เป็นผู้แทน ทช.นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ขยะทะเล งานวิจัยด้านขยะทะเล และไมโครพลาสติก รวมทั้งเเนวนโยบายการแก้ปัญหาขยะทะเลของประเทศไทย ซึ่งเป็นการแสดงความร่วมมือกับผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับทะเลในการปกป้องทะเลให้มีความสมบูรณ์ต่อไป

นายโสภณ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จของงานวิจัยด้าน Marine Microplastic หรือมารีน ไมโครพลาสติก และด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศรวมถึงการแสวงหาความร่วมมือระหว่างไทยและจีน เนื่องจากมารีน ไมโครพลาสติก เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเลรวมถึงมนุษย์อันเป็นผลมาจากขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าประเทศไทยและจีนถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศที่มีปริมาณขยะทะเลจำนวนมาก อีกทั้งประเด็นขยะทะเล และมารีน ไมโครพลาสติก ยังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับประเทศระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงท่าทีของประเทศไทย ในการให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติกที่เกิดจากขยะทะเล

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติก ได้กลายเป็นวิกฤตสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งนานาชาติให้ความสำคัญ และถูกหยิบยกขึ้นมาหารือควบคู่กันในการประชุมระดับนานาชาติ จากหลักฐานที่ปรากฏชัดมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันทั้งภาพแพขยะในมหาสมุทร ภาพผลกระทบของขยะพลาสติกที่มีต่อนกทะเล สัตว์ทะเล เช่น เต่าทะเล โลมา วาฬ และสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขยะพลาสติกกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2559 มีขยะมากถึง 27 ล้านตัน จำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกเฉลี่ย 3.2 ล้านตัน สอดคล้องกับข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ และครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ช้อม ส้อม แก้วน้ำพลาสติก นอกจากนี้แต่ละปี มีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 13 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล ซึ่งประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก

“ทั้งนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ได้มีนโยบาย 3 อย่าง คือ เลิกใช้พลาสติก ลดใช้พลาสติก และหานวัตกรรมใหม่ เช่น ทำที่ดักขยะปากแม่น้ำ โดยเริ่มแล้วหากสำเร็จจะขยายผลทั่วประเทศ เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะลงทะเล พร้อมกันนี้ ภาครัฐ ผู้แทนองค์กรต่างๆ และภาคเอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และผู้บริโภคพลาสติก ได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์และมีส่วนร่วมลดการผลิตและการใช้พลาสติก เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกและอนุรักษ์ทะเลไทย โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง จนนำสู่การแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง” นายจตุพร กล่าว