ทั่วโลกเปิดศึกกีดกัน! - "26 สินค้าไทย" ส่อสะดุด (6 ก.ค. 61)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 6 กรกฎาคม 2561
ทั่วโลกเปิดศึกกีดกัน! "26 สินค้าไทย" ส่อสะดุด

พาณิชย์สั่งจับตา 'สงครามการค้า' จุดชนวนทั่วโลก แห่ใช้มาตรการเอดี/ซีวีดี/เซฟการ์ด ป้องอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่ม ไทยอ่วม! ล่าสุด 16 ประเทศคู่ค้ารุมกีดกัน สั่งเปิดไต่สวน จอขึ้นภาษีตอบโต้กว่า 26 รายการ สภาหอฯ ชี้! 'ทรัมป์' เปลี่ยนการค้าโลกแยกเป็น 2 ขั้ว จับตาสหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยว หากไม่ยอมถอย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายใต้ภาวะสงครามทางการค้าที่แต่ละประเทศมีนโยบายตั้งกำแพงภาษี เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าระหว่างกันนั้น การใช้มาตรการทางการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศ เช่น มาตรการเรียกเก็บอากร หรือ ภาษีเพิ่มนอกเหนือจากภาษีนำเข้าปกติ เพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) , ตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ Safeguard (SG) มีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ถูกใช้มาตรการได้ เช่น การชะลอตัวทางการค้า การส่งออกที่ลดลง กระทบต่อการผลิตและการจ้างงาน และเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้า

"มาตรการข้างต้นจะถูกนำมาใช้มากขึ้นจากสงครามทางการค้า ทำให้รูปแบบการค้าถูกบิดเบือน บางประเทศไม่สามารถส่งออกไปตลาดเดิมได้ จำเป็นต้องระบายสินค้าของตนไปยังประเทศอื่น"

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน ไทยมีการใช้ 3 มาตรการข้างต้น กับสินค้านำเข้าเช่นกัน ข้อมูลล่าสุดมีสินค้าจากประเทศคู่ค้าที่ไทยใช้มาตรการเอดีทั้งสิ้น 20 รายการ จาก 22 ประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บอากรเอดี 13 รายการ จาก 20 ประเทศ อาทิ จีน เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ รัสเซีย คาซัคสถาน อินเดีย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าเหล็ก เช่น เหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็นชนิดม้วน แผ่นเหล็กรีดเย็นชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน เหล็กลวดคาร์บอนสูง กรดซิตริก เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ไทยอยู่ระหว่างการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดีมี 2 รายการ จาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย และอียิปต์ ในสินค้าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเมลามีน และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ขณะที่ มีสินค้าที่ไทยอยู่ระหว่างการทบทวนอากรเอดี/ทบทวนเพื่อขยายเวลาการใช้มาตรการ 5 รายการ จาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน สินค้า เช่น ยางในชนิดที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ เหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน เป็นต้น

ส่วนกรณีที่ประเทศคู่ค้าใช้ 3 มาตรการข้างต้น กับสินค้าไทย ณ เวลานี้ ในส่วนของมาตรการเอดีมีสินค้ารวม 88 รายการ จาก 15 ประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่อยู่ระหว่างถูกเรียกเก็บภาษีเอดี 70 รายการ จาก 14 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ตุรกี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล จีน สหภาพยุโรป อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย ปากีสถาน แคนาดา เกาหลีใต้ มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ สินค้าที่คู่ค้าใช้มาตรการกับไทย เช่น ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นรีดร้อน กุ้งแช่แข็ง ท่อขุดเจาะน้ำมัน ยางรถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ ข้าวโพดหวาน กระป๋อง เป็นต้น

ขณะที่ มีสินค้าที่คู่ค้าอยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดีกับไทยรวม 13 รายการ จาก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย จีน ออสเตรเลีย บราซิล ตุรกี สินค้าที่ถูกไต่สวน เช่น ท่อเหล็กกล้าไร้สนิม ถังสำหรับบรรจุก๊าซ หนังยางรัดของ สินค้าไกลซีน และ Phenol เป็นต้น นอกจากนี้ มีสินค้าไทยที่คู่ค้าอยู่ระหว่างการเปิดทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการเอดี หรือ ทบทวนเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราอากรเอดี รวม 5 รายการ จาก 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย สินค้า เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และ Ethanolamine เป็นต้น

ส่วนมาตรการซีวีดีมีคู่ค้าอยู่ระหว่างไต่สวนเพื่อใช้มาตรการกับสินค้าไทย 3 รายการ ทั้งหมดจากสหรัฐฯ ได้แก่ สินค้าไกลซีน หนังยางรัดของ และ Citric Acid and Certain Citrate Salts และมาตรการเซฟการ์ดมีสินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกเปิดไต่สวน เพื่อกำหนดมาตรการ SG มี 10 รายการ จาก 9 ประเทศ ได้แก่ ยูเครน บาห์เรน อินเดีย ตุรกี ชิลี คอสตาริกา สหภาพยุโรป อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สินค้า เช่น สินค้ากลุ่มเหล็ก 26 กลุ่มสินค้าจากสหภาพยุโรป เป็นต้น

ด้าน นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลพวงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หากตกลงกันไม่ได้ รวมถึงหาก 'ทรัมป์' จะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จาก 2.5% เป็น 20-25% จริง น่าจะทำให้สหรัฐฯ ถูกแยกออกจากกลุ่มการค้าโลก โดยกลุ่มหนึ่ง คือ จีน ยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก อเมริกาใต้ และแอฟริกา และอีกกลุ่ม คือ สหรัฐฯ ที่อยู่โดดเดี่ยว แต่เนื่องด้วยสหรัฐฯ เป็นตลาดขนาดใหญ่ (สัดส่วน 20% ของการค้าโลก)

ดังนั้น จีนอาจต้องหาตลาดชดเชยสหรัฐฯ โดยจะเน้นมายังกลุ่มอาเซียน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ มากขึ้น ขณะที่ การนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนก็จะหันมานำเข้าจากอาเซียน อินเดีย ออสเตรเลีย และอื่น ๆ มากขึ้น

"ทุกประเทศคงต้องหาทางป้องกันสินค้าจากจีน และจากสหรัฐฯ มากขึ้น ดังนั้น มาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ ๆ จะออกมาเรื่อย ๆ แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนตัวยังเชื่อว่า ก่อนวันที่ 6 ก.ค. 2561 ที่สหรัฐฯ และจีน จะเริ่มขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กัน น่าจะประนีประนอมเกิดขึ้นได้ เพราะอีกมุมหนึ่งมีสินค้าที่มีฐานการผลิตอยู่ในมลรัฐที่เป็นฐานเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะได้รับผลกระทบมาจากการขึ้นภาษีนำเข้าของจีน หากทรัมป์ไม่ถอยอาจแพ้การเลือกตั้งกลางเทอมปลายปีนี้ได้"