อีกด้านของมาตรการลดพลาสติก: คนพิการยังต้องใช้-ลูกค้าไม่เข้าใจทำร้ายพนักงาน (6 ก.ค. 61)

Green News TV 6 กรกฎาคม 2561
อีกด้านของมาตรการลดพลาสติก: คนพิการยังต้องใช้-ลูกค้าไม่เข้าใจทำร้ายพนักงาน

แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และสก็อตแลนด์ ประกาศแบน ‘หลอดพลาสติก’ ภายในปี 2020, ไต้หวันประกาศแบน ‘พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง’ ภายในปี 2030

เฉพาะในสหรัฐอเมริกา เช่น นิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และฮาวาย ก็กำลังพิจารณาแบนหลอดพลาสติกในระดับนโยบาย ไม่นับบางเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา นิวเจอร์ซีย์ และวอชิงตัน ที่มีความพยายามจากเทศบาลรณรงค์ลดใช้ ‘หลอดพลาสติก’ ประกาศในรัฐตัวเอง

นี่คือรายชื่อประเทศส่วนหนึ่งใน 60 ประเทศที่ ‘ประกาศแบน’ หรือ ‘กำลังจะแบน’ พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง (single-used plastic items) ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ ‘ถุงพลาสติก’ และ ‘หลอดพลาสติก’ (อ่านเพิ่ม: นโยบายล้างบางขยะพลาสติกของอารยประเทศ https://greennews.agency/?p=16903)

ขณะที่ประเด็น ‘พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง’ และ ‘หลอดพลาสติก’ กำลังเป็นที่พูดถึง ผู้คนอ้าแขนรับแคมเปญรณรงค์นี้อย่างคึกคัก (และอย่างเซ็กซี่) แต่อีกด้านของเหรียญเดียวกัน ยังมีเสียงสะท้อนของผู้ที่ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะรู้สึกถูกกระทบเพราะยังมีความจำเป็นต้องใช้ หรือรู้สึกถูกละเมิดสิทธิ

โดยเฉพาะในคนพิการหลายๆ ประเภท หลอดพลาสติกยังจำเป็นในแง่อุปกรณ์ให้ช่วยเหลือตัวเองเรื่องอาหารการกินอย่างเป็นอิสระ

ต่อให้แคมเปญรักษ์โลกที่พูดออกไปอย่างไรคนก็ต้องเห็นด้วย แต่การ ‘แบน’ อย่างเด็ดขาด เนื่องจากนโยบายที่คิดอย่างหัวชนฝาและตั้งแง่ของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลายครั้งถูกคิดขึ้นบนฐานของความไม่หลากหลาย คิดจากฐาน ‘คนทั่วไป’ เพียงอย่างเดียว

คนพิการสะท้อน แม้จะรักษ์โลก แต่ก็มีความจำเป็นต้องใช้หลอดพลาสติกอยู่

StrawFree.org ในสหรัฐอเมริกา
Strawless In Seattle ในซีแอตเทิล
Straw Wars ในลอนดอน
Straws Suck ในแคนาดา
และ #ไม่หลอดเนาะ ในไทย

ด้วยแนวคิดหลัก หลอดพลาสติกเป็นแค่สิ่งเคยคุ้น ไม่ใช่สิ่งจำเป็น และเพียงเปลี่ยนพฤติกรรมมา ‘จิบ’ หรือใช้หลอดถาวรทางเลือก เท่านั้นเป็นอันหมดปัญหา

แต่เหตุผลนั้นอาจใช้ไม่ได้กับ ‘ทุกคน’ โดยเฉพาะคนพิการที่มีข้อจำกัดเรื่องการขยับร่างกาย

“ตลอดชีวิต ฉันใช้หลอดพลาสติกมาโดยตลอด เพราะฉันไม่อาจหยิบจับถ้วยหรือแก้วน้ำได้ หากปราศจากหลอด ฉันไม่อาจกินน้ำได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องมีคนมาจับช่วย หลอดดื่มน้ำอาจเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับฉัน มันคืออุปกรณ์จำเป็น”

“คนพิการอยากจะดูแลโลกนี้เหมือนกัน แต่เราก็จำเป็นที่ต้องกินน้ำ”

หนึ่งในข้อความของ โรบิน พาวล์ (Robyn Powell) ผู้ป่วยโรคข้อยึดติด หรือ AMC (Arthrogryposis Multiplex Congenital) ภาวะที่ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า หัวไหล่ นิ้วมือ นิ้วเท้า และข้อสะโพกงอหรือเหยียดค้างแข็ง ทำให้ไม่อาจเคลื่อนไหวมือและเท้าได้ ในบทความเรื่อง ‘I Need Plastic Straws To Drink. I Also Want to Save the Environment.’ (ฉันยังจำเป็นต้องใช้หลอดพลาสติกเพื่อดื่มน้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย) ในสำนักข่าว Huffingtonpost เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

เธออธิบายตัวเองชัดว่าเธอคือคนพิการที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และหากไวรัลคลิปดึงหลอดพลาสติกออกจากรูจมูกเต่าสุดสะเทือนใจ ถือเป็นจุดเปลี่ยนทำให้คนหันมาสนใจเรื่องขยะพลาสติกในทะเลเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ถ้าคลิปนี้สะเทือนใจใครหลายคน มันก็สะเทือนใจตัวเธอเองด้วยเหมือนกัน

หลายคนถาม ทำไมไม่ใช้หลอดทางเลือก เช่น หลอดโลหะ หลอดไม้ไผ่ หรือหลอดแก้ว?

เธออธิบายว่า หลอดดังกล่าวอาจเป็นอันตราย ใช้งานยาก หรืออาจใช้ไม่ได้เลยกับคนพิการบางประเภท เช่น หลอดโลหะและไม้ไผ่ อาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วยพาคินสัน เพราะหลอดเหล่านี้มีลักษณะแข็งเกินไป หรือกับหลอดกระดาษเองก็อาจเปื่อยยุ่ยได้ตลอดเวลา แปลว่ามันอาจเผลอหลุดติดลงคอได้

แต่ที่โรบินเห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือ หลอดทางเลือกเหล่านั้นมีราคาแพง และแพงเกินกว่าที่คนจน *ผู้ต้องเลือกว่าจะจ่ายเงินที่มีจำกัดให้กับสินค้าสำคัญชิ้นใดก่อน* จะจ่ายไหว

ขีดเส้นใต้ห้าร้อยเส้น โดยเฉพาะคนจนในคนพิการ

โรบินยกตัวเลขความแตกต่างทางรายได้เนื่องจากเพศและความพิการ ในสำมะโนสหรัฐ (U.S. census) ประจำปี 2017 ระบุว่า 27% ของคนพิการเพศหญิง มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนที่รัฐกำหนด ขณะที่คนปกติ มีเพียง 10% เท่านั้นที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนนี้

“เราไม่ควร และ ไม่สามารถ ที่จะหยุดการใช้พลาสติกสิ้นเปลืองเหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่ฉันจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ คือการยกเลิกเฉพาะส่วนที่จำเป็น และขอให้คงไว้สำหรับคนที่ยังจำเป็นต้องใช้มัน หรือยังคงมีการยื่นให้เมื่อมีถูกร้องขอ” โรบินกล่าว

เช่นเดียวกันกับบทความเรื่อง ‘Banning Straws won’t save the oceans’ (แบนหลอดพลาสติก ไม่ได้ช่วยเรื่องขยะในทะเล) ใน Pacifis Standard เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนคือ เดวิด เพอร์รีย์ (David M. Perry) อดีตอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ปัจจุบันคือสื่อมวลชนที่ติดตามประเด็นประวัติศาสตร์และการศึกษา เขายังเป็นพ่อของลูกซึ่งเป็นออทิสติกด้วย

เนื้อหาส่วนหนึ่งของเขาเห็นคล้ายกับโรบิน คืออธิบายว่าหลอดพลาสติกจำเป็นสำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการ สิ่งที่เสริมถัดมาคือวิจารณ์นโยบายแบนพลาสติกเหล่านี้ว่าเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค โดยละเลยการทำงานกับกลุ่มนายทุนผู้ผลิต ซึ่งเขาชี้ว่ารัฐบาลควรดำเนินการเรื่องความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) มากกว่า

ส่วนสิ่งที่เพิ่มเติมมาคือความในใจ และฉายให้เห็นภาพ ‘สงคราม’ และ ‘การตั้งแง่’ ที่เกิดจริงระหว่างผู้สนับสนุนนโยบายแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง และผู้ที่ยังต้องการใช้มันอยู่

“ทุกครั้งที่ผู้คนจุดประเด็นความสำคัญเรื่องการลดใช้หลอดพลาสติก เมื่อนั้นเรา (ผู้ไม่เห็นด้วยกับการ ‘แบนเบ็ดเสร็จ’) จะถูกโจมตีด้วยการพยายามให้ข้อมูลถึงโลกใหม่ที่ควรจะเป็นในอนาคต เช่น มันมีหลอดทางเลือกอย่างหลอดโลหะ หลอดแก้ว หลอดไม้ไผ่ หลอดกระดาษ และหลอดที่ย่อยสลายได้นะ ซึ่งมันทำให้เห็นชัดว่าพวกเขาไม่ได้คิดว่าคนที่จำเป็นต้องพึ่งพาฟังค์ชั่นหลอดพลาสติกในปัจจุบัน กำลังไม่มีทางเลือก

“มันมีความเครียดอยู่จริงระหว่างผู้บริโภคที่รักษ์โลก กับผู้ที่ยังจำเป็นต้องมี และต้องการทางเลือกเพื่อเข้าถึงการบริโภคในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะผู้บริโภคคนพิการ มันเป็นเรื่องดีที่เราจะสร้างการตระหนักรู้นะ แต่ผมมีปัญหาอยู่หลายปีกับบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องหลอดพลาสติก แล้วจบลงที่การเป็นศัตรูกัน” เดวิด กล่าว

ชาวออสซี่ บีบคอพนักงานห้างวูลเวิร์ทส์ เพราะนโยบายแบนถุงพลาสติก

หลังห้างวูลเวิร์ทส์ (Woolworths) ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ในประเทศออสเตรเลียประกาศทดลองหยุดให้ถุงพลาสติก ‘ฟรี’ แก่ลูกค้าตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน และเริ่มหยุดอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนเป็นขายถุงรีไซเคิลในราคาใบละ 15 เซนต์แทนนั้น พนักงานรายหนึ่งในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (Western Australia) ถูกลูกค้าบีบคอและต่อว่าอย่างรุนแรง สรุปใจความได้ว่าขอให้เห็นใจและพิจารณากฎกติกาดูเสียใหม่

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดกับพนักงานรายนี้รายเดียว เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีการสำรวจผลตอบรับจากพนักงานจำนวน 132 คน พบว่าพนักงาน 57 คน หรือคิดเป็น 43% บอกว่าตัวเองถูกข่มขู่ทำร้าย (abuse) เพราะนโยบายแบนถุงพลาสติกนี้ พร้อมยังรายงานว่ามีลูกค้าจำนวนหนึ่งได้ขโมยถุงพลาสติกไปช่วงก่อนที่นโยบายแบนถุงพลาสติกนี้จะบังคับใช้จริง

นอกจากนี้ยังมีระเบียบจากห้างวูลเวิร์ทส์แก่ผู้จัดการขาย ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียและควีนสแลนด์ว่า พวกเขาจะถูกปรับหากพบว่ามีการกักตุนถุงพลาสติกสำหรับใส่ของกลับบ้านให้ลูกค้า

ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่กระแสต่อต้านเล่นๆ และจากลูกค้าเพียงหยิบมือ แต่จริงจังขนาดที่มีการทำแคมเปญรณรงค์สาธารณะไม่ให้ทำร้ายร่างกายพนักงานเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ห้างวูลเวิร์ทส์ประกาศอย่างชัดเจนว่าการทำร้ายเจ้าพนักงานนั้นกระทำไม่ได้ และจะยืนเคียงข้างพนักงานร่วมฟ้องร้องลูกค้าที่ทำร้ายร่างกายพนักงานวูลเวิร์ทส์กลับด้วย

กระแสเรียกร้องและคำต่อว่าของลูกค้า ทำให้วูลเวิร์ทส์ต้องขยายเวลาให้ถุงพลาสติก ณ จุดขายออกไปถึงวันที่ 8 กรกฎาคม ขณะที่ห้างโคลส์ (Coles) ก็ออกมาตรการเพิ่มสตาฟหรือพนักงานคิดเงินเพิ่มเข้าไป แก้ปัญหาคิวยาวเนื่องจากพนักงานต้องคอยรับฟังคำต่อว่าและคอยตอบคำถามของลูกค้าอันเนื่องจากนโยบายแบนถุงพลาสติกทำให้มีคิวจ่ายเงินยาวกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม นี่คือข้อถกเถียงอันเป็นปกติของการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง หรือเป็นขั้นตอนปกติของการเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลง ได้แต่หวังว่าจะมีข้อถกเถียงเช่นนี้ขึ้นในไทยบ้าง เพราะนั่นอาจหมายความว่า ประเทศเรา ‘เทคแอคชัน’ กับปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงจังในระดับนโยบาย ไม่ใช่ระดับ ‘จิตสำนึก’