เผยผลศึกษาชี้แหล่งน้ำไทยมีสารปรอทตกค้างเกินเกณฑ์ พบสะสมในปลา (19 ก.ย. 60)

สำนักข่าวชายขอบ transborder News 19 กันยายน 2560 
เผยผลศึกษาชี้แหล่งน้ำไทยมีสารปรอทตกค้างเกินเกณฑ์ พบสะสมในปลาทั้งพื้นที่ใกล้อุตสาหกรรมและอุทยานแห่งชาติ หวั่นคนท้องเสี่ยงลูกพิการทางสมอง เสนอออกฏหมายควบคุมรับอนุสัญญามินามาตะมีผล
 
 
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 ที่ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ มูลนิธิบูรณะนิเวศ(EARTH) ร่วมกับ Arnika Association จัดการแถลงนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “สารปรอทในปลาและร่างกายมนุษย์ ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559-2560” และ เรื่อง “ผลกระทบของสารปรอทต่อสุขภาพและเศรษฐกิจและแนวทางปฎิบัติตามอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท”
 
สำหรับรายงานสารปรอทในปลาและร่างกายมนุษย์ฯ เป็นการเก็บตัวอย่างใน 8 พื้นที่ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี, ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี, อ.เมือง จ.สมุทรสาคร, ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ, ต.แพรกษา อ.เมือง สมุทรปราการ, ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย, อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น, อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา, ต.ทวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี, ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานหลอมโลหะ โรงงานรีไซเคิล เหมืองทองคำ และกลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสีย
 
ทั้งนี้ผลจากการวิเคราะห์จากตัวอย่างปลา พบว่า มีการสะสมสารปรอทที่จัดเป็นสารอันตรายคงทนในสิ่งแวดล้อมจากตัวอย่างปลาที่พบในห่วงโซ่อาหาร และมนุษย์ในฐานะผู้บริโภคบนสุดของห่วงโซ่จะมีการสะสมสารปรอทมากที่สุด โดยจากตัวอย่างปลาทะเล 14 ตัวอย่าง พบสารปรอทเกินเกณฑ์ 2 ตัวอย่าง และตัวอย่างปลาน้ำจืด 25 ตัวอย่าง พบสารปรอทเกินเกณฑ์ถึง 18 ตัวอย่าง
 
นอกจากนี้ตัวอย่างผลวิเคราห์พบค่าปรอทสูงเกินเกณฑ์ คือ ปลาช่อนที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีปริมาณสารปรอท 0.517 ppm(มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ขณะที่พื้นที่อุตสาหกรรม ตัวอย่างปลาเต็กเล้งที่ปากคลองซากหมาก จ.ระยอง พบค่าสารปรอทสูงที่สุดถึง 1.027 โดยภาพรวมค่าสารปรอทสูงที่สุดจะอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือที่มาบตาพุด จ.ระยอง และ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรป(อียู) ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.5 ppm และกระทรวงสาธารณะสุขที่กำหนดไว้ อาหารทะเล 0.5 ppm และอาหารอื่นๆ 0.02 ppm ส่วนผลที่วิเคราะห์จากตัวอย่างเส้นผมของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่เก็บตัวอย่างใน 25 ประเทศ เพื่อตรวจหาสารพิษตกค้าง พบว่าประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของสารปรอทในระดับที่สูงผิดปกติคือ 3.077 ppm สูงสุดในลำดับที่ 9 และสูงสุดในกลุ่มประเทศพื้นที่หลากหลายอุตสาหกรรมหลายประเภท ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ 0.58 ppm จนสามารถทำลายระบบประสาทของทารกในครรภ์ห้เป็นอันตรายได้
 
 
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ(EARTH) กล่าวว่า ผลการศึกษาที่พบสารปรอทเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เห็นการสะสมสารปรอทในห่วงโซ่อาหาร มีการเคลื่อนย้ายของมลพิษทั้งทางอากาศและปนเปื้อนในน้ำเข้าสู่ปลาและสะสมในตัวมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร ที่สำคัญการปนเปื้อนไม่จำกัดในพื้นที่อุตสาหกรรมหรือเช่นที่มาบตาพุดเพียงแหล่งเดียว เพราะตัวอย่างปลาในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่อยู่ห่างออกไป 70 กิโลเมตรก็ยังพบการปนเปื้อนสารปรอท ดังนั้นแหล่งกำเนิดจึงไม่จำกัดที่แหล่งอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงการปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
“เป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างยิ่งว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เพราะผลการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ยังคงพบการปนเปื้อนในระดับสูงสุด ทั้งที่การศึกษาในปี 2556-2559 ครั้งนั้นทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อแก้ปัญหามลพิษและสารปรอทตั้งแต่ปี 2556 แต่ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการดำเนินการแก้ปัญหาหรือการฟื้นฟูคลองชลองแวงและพื้นที่ท่าตูมแต่อย่าง จนปัจจุบันการปนเปื้อนยังคงรุนแรง ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้ชาวบ้านมรพื้นที่อุตสาหกรรมต้องรับความเสี่ยงต่อไป เพราะเสี่ยงต่อสุขภาพ ทำลายไต และหัวใจ และมีผลต่อเด็กในครรภ์ให้มีเชาว์ปัญญา(IQ)ลดลง คล้ายกับโรคมินามาตะที่เป็นเหตุการณ์ปนเปื้อนที่รุนแรงในประเทศญี่ปุ่นในอดีต” นางสาวเพ็ญโฉม กล่าว
 
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า ถ้าดูสัดส่วนของประเทศไทยพบว่าแหล่งหลักของการปนเปื้อนสารปรอทคือการเผาถ่านหิน โดยเฉพาะพื้นที่ท่าตูมมีปริมาณค่าเฉลี่ยของสารปรอทในเส้นผมสูงถึง 4.60 ppm เป็นปริมาณสูงสุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ศึกษาของประเทศอื่นๆ ซึ่งประชาชนบริโภคปลาที่อยู่ในลำคลองที่ใกบล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการเผาถ่านหินเฉลี่ย 9 แสนตันต่อปี โดยมีการประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากค่า IQ ลดลง 77 คะแนน จากจำนวนประชาการเกิดใหม่ต่อปี 177 คน นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวอีกว่า รายงานฉบับนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมของยูเอ็น ที่เมืองเจนีวา เพื่อเป็นส่วนขับเคลื่อนต่อการบังคับใช้อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ที่ไทยได้ลงนามและจะมีผลบังคับใช้กับไทยวันที่ 20 กันยายนนี้ โดยเชื่อว่าหากมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ประเทศไทยน่าจะเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้ แต่หากปฃล่อยให้สถานการณ์ปนเปื้อนดำเนินต่อไปก็อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพจนเกิดเยียวยา ซึ่งคิดว่าปัญหาของรัฐคือการทับซ้อนของอำน่จของหน่วยงานระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษ อีกทั้งยังขาดกฎหมายที่จะควบคุมผู้ประกอบการให้มีการรายงานต่อรัฐว่าแต่ละปีมีการปล่องทิ้งสารโลหะหนักมากน้อยเท่าไร ซึ่งในขณะนี้ร่างกฏหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม(PRTR) อยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม