ม.บูรณะนิเวศ พบสารพิษรง.อุตฯ ตกค้าง ในตัวอย่างไข่ไก่ สมุทรสาครสูงอันดับ2ของโลก (23 พ.ย. 60)

สำนักข่าวอิศรา 23 พฤศจิกายน 2560
ม.บูรณะนิเวศ พบสารพิษรง.อุตฯ ตกค้าง ในตัวอย่างไข่ไก่ สมุทรสาครสูงอันดับ2ของโลก

มูลนิธิบูรณะนิเวศ เผยผลการศึกษา การปนเปื้อนของสารพิษ POPs จากตัวอย่างไข่ไก่รอบพื้นที่อุตสาหกรรมใน6 เขตพัฒนาอุตสาหกรรมพบจ.สมุทรสาคร มีการปนเปื้อนไดออกซินสูงสุดอันดับสองของโลก เท่าที่เคยมีการสำรวจมาเผยที่ผ่านมาไทยยังไม่ได้เดินตามอนุสัญญาสตอกโฮล์ม เพื่อควบคุมจริงจัง เสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบในระยะยาว

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 60 ห้องประชุม 1 ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิบูรณะนิเวศ และสมาคมอาร์นิก้า ประเทศสาธารณรัฐเช็ก ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์ ภาคพลเมืองในการเฝ้าระวังมลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมร่วมแถลงข่าว ผลการศึกษา "เรื่อง การสะสมของสารพิษตกค้างยาวนาน (Pollutant Release and Transfer Register: POPs) ในไข่ไก่และตัวอย่างสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม และวิเคราะห์ความคืบหน้าในการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มของประเทศไทย"

นาย Jindrich Petrlik ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารพิษและของเสีย สมาคมอาร์นิก้า เปิดเผยว่า จากการสุ่มตรวจกลุ่มสารพิษตกค้างยาวนานที่เกิดขึ้นโดยไม่จงใจ(U-POPs) เช่น ไดออกซิน/ฟิวแรน, พีซีบี ที่คล้ายไดออกซิน  นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบกลุ่มสารเคมีป้องกัน/กำจัดศัตรูพืชและสัตว์ รวมถึงสารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่สามารถสะสมในห่วงโซ่อาหารมีอันตรายสูงต่อสุขภาพของคน และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน 

สำหรับตัวอย่างไข่ไก่ทั้งหมด11 ตัวอย่างที่มาจากไก่ที่เลี้ยงด้วยการปล่อยให้คุ้ยเขี่ยหากินตามธรรมชาติ จากพื้นที่เขตพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ใน 6 พื้นที่ได้แก่ เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.เมือง จังหวัดระยอง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร อ.ท่าเรือ จ. สระบุรี ต.ท่าตูม จ. ปราจีนบุรี  อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ส่วนอีก 1 ตัวอย่างเป็นไข่ขากร้านสะดวกซื้อในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะใช้เป็นกลุ่มควบคุมและใช้อ้างอิงระดับปริมาณภูมิหลังของมลสารPOPs โดยการแนะนำในการศึกษาของ Dvorska (2015) ช่วงเวลาของการเก็บตัวอย่างแบ่งเป็น ปี พ.ศ. 2558 จำนวน 2 ตัวอย่าง และพ.ศ.2559 จำนวน 9 ตัวอย่าง รวมตัวอย่างไข่ไก่ที่เก็บมาทั้งสิ้น 49 ตัวอย่าง 

นาย Jindrich กล่าวถึงผลการทดสอบของพื้นที่ปนเปื้อนสาร POPs พบว่า พื้นที่อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร มีการปนเปื้อนสารไดออกซิน(Dioxin) และสารหน่วงการติดไฟ(BFRs) ในปริมารสูง ส่วนสารไดออกซิน/ฟิวแรน(PBDD/Fs)  สูงมากเป็นอันดับสอง เท่าที่เคยตรวจวัดทั่วโลก

โดยพบว่า 1 ใน 2 ของตัวอย่างไข่ไก่จากสมุทรสาคร มีการปนเปื้อนสารไดออกซิน/ฟิวแรน เท่ากับ 84.04 นาโนกรัม/กิโลกรัม  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสหภาพยุโรปถึง 33 เท่า

ขณะที่การปนเปื้อนสารไดออกซิน/ฟิวแรน รวมกับสารพีซีบี เท่ากับ 95.71 นาโนกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสหภาพยุโรปถึง 19 เท่า

ในขณะที่ พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง พบสารหน่วงการติดไฟ (BFRs) และเอชซีบี (HCB ) ปริมาณสูงในบางพื้นที่เก็บตัวอย่าง ส่วนพื้นที่อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พบไข่ไก่ปนเปื้อนสาร พีเอเอช( PAHs) ในระดับสูง เนื่องจาก มีการใช้ขี้เถ้าจากโรงงานมาเป็นวัสดุปรับปรุงดินในพื้นที่

ในข้อสรุปที่สำคัญของพื้นที่ปนเปื้อนสาร POPs ในประเทศไทย โดยแบ่งแยกชนิดสารปนเปื้อน ได้แก่

(1) สารเอชซีบี (HCB) และเอชซีเอช(HCHs) พบว่า ตัวอย่างไข่ไก่ส่วนใหญ่มีสารสองตัวนี้สูงเกินมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งในเกณฑ์มาตรฐานของปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด จากมาตรฐานสินค้าเกษตร(มกษ.9002-2559) ของประเทศไทย ซึ่งมีเกณฑ์ของสารบีต้า-เฮกซะคลอโรเบนซีน และแกมมา-เฮกซะคลอโรเบนซีน โดยระบุว่าต้องไม่ตรวจพบสารพิษตกค้างและเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากมาตรฐานสินค้าเกษตร(มกษ.9003-2547) ซึ่งเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจและมีเกณฑ์ของสารดีดีที(DTT) 

(2) สารดีดีที ยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชออร์กาโนคลอรีนที่พบมากที่สุดในตัวอย่าง

(3)สารไดออกซิน และพีซีบีที่คล้ายไดออกซิน พบปริมาณสูงที่สุดในพื้นที่สมุทรสาคร ทั้งในตัวอย่างดินและไข่ไก่

ขณะที่ตัวอย่างไข่ไก่ที่เก็บมาจากพื้นที่อย่างอ.บ้านหมอ จ.สระบุรี และต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี พบปริมาณสารชนิดนี้สูงเกินมาตรฐานของสหภาพยุโรป

(4)พีเอเอช(PAHs) พบมีปริมาณสูงมากในตัวอย่างไข่ไก่ในพื้นที่อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และอ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยพบว่าเกิดจากแห่ลที่มาอย่าง ขี้เถ้า, การเผาขยะและของเสีย การหล่อหลอมโลหะ

(5)สารพีซีบี ยังพบในระดับต่ำมาก

(6)สารหน่วงการติดไฟ พีบีดีอี(PBDEs) และเอชบีซีดี(HBCD) พบมีปริมาณสูงในตัวอย่างไข่ไก่ จากพื้นที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในการแถลงผลการศึกษาครั้งนี้ มีนักวิชาการจากหลายหน่วยงานตั้งคำถามต่อการใช้ตัวอย่างไข่ไก่และจำนวนของตัวอย่างที่นำมาศึกษา ว่าอาจไม่สามารถบ่งบอกทั้งหมดได้

ในประเด็นนี้ นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตัวแทนณะผู้ทำการวิจัย ให้เหตุผลว่า การเลือกเก็บตัวอย่างไข่ไก่จากแม่ไก่ที่หากินตามธรรมชาติ เพื่อนำมาศึกษาดูปริมาณการปนเปื้อนของสาร POPs โดยทำการเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ต่างๆ ในช่วงปี พ.ศ.2558-2559 ซึ่งจากงานศึกษาอื่นๆ ที่ผ่านมาพบว่า ไข่ไก่เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของการปนเปื้อนของสาร POPs  ที่มากับดินหรือฝุ่น และเป็นเส้นทางสำคัญที่ทำให้มนุษย์ได้รับสัมผัสสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย

“ไข่ไก่จากพื้นที่ปนเปื้อนบางแห่งที่สารพิษปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์สำหรับการป้องกันสุขภาพของมนุษย์ ไก่และไข่จึงเป็นตัวบ่งชี้ได้ดีสำหรับการประเมินระดับการปนเปื้อนของสารมลพิษในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารPOPs โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาร ไดออกซิน/ฟิวแรนและสารพีซีบี” 

สำหรับสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ POPs นั้น ถือเป็นสารอันตรายที่คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนานและยังสามารถแพร่กระจายได้ไกลทางอากาศ สามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตและปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ปัจจุบันสารมลพิษที่อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ควบคุมมี 28 สาร สารเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคและการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น การเกิดโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ ทำลายระบบประสาท โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมองของเด็ก ทำให้ทารกแรกเกิดเสียชีวิตเนื่องจากปอดบกพร่องและเจริญเติบโตผิดปกติ เป็นต้น

ในปัจจุบัน มีประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญานี้แล้วรวม 181  ประเทศ สำหรับประเทศไทยได้ลงนามไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545  และให้สัตยาบันฯเมื่อวันที่ 31มกราคม 2548 และมีผลบังคับใช้ในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม  2548 เป็นต้นมา รวมแล้วเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้วที่ไทยอยู่ในอนุสัญญาฉบับนี้

นางเพ็ญโฉม กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ด้วยการปฏิบัติตาม “แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน” ตามที่มติคณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบได้ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2550 รวมถึงต้องเร่งจัดทำทำเนียบแหล่งกำเนิดสาร POPs เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า มีสถานประกอบการใดและอยู่ที่ไหนที่เป็นแหล่งปลดปล่อย วันนี้ยังไม่มี เพราะยังขาดกลไล Pollutant Release and Transfer Registerหรือ PRTR ใช้ในประเทศ ทั้งยังขาดกฎหมายควบคุมการปลดปล่อยสารไดออกซินและฟิวแรนจากแหล่งกำเนิดทุกประเภท

ขณะเดียวทางด้านภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด เพื่อลดการปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมให้ได้ ตามข้อพันธกรณีของรัฐภาคีตามอนุสัญญา