43 นักวิชาการวอน 'บิ๊กตู่' สร้างโรงไฟฟ้าเทพา ยืนยันทั่วโลกไม่พบ 'เจ็บ-ตาย' อย่างมีนัยสำคัญ (6 ธ.ค. 60)

Green News สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม 6 ธันวาคม 2560
43 นักวิชาการวอน ‘บิ๊กตู่’ สร้างโรงไฟฟ้าเทพา ยืนยันทั่วโลกไม่พบ ‘เจ็บ-ตาย’ อย่างมีนัยสำคัญ


By ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

ชมรมนักวิชาการฯ ยื่นหนังสือ “บิ๊กตู่” เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ระบุ ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยันผลกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ

ตัวแทนจากชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เดินทางมายังศูนย์บริการประชาชน บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2560 เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนสนับสนุนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา โดยเชื่อว่าหากโรงไฟฟ้าเทพาไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน ภาคใต้จะมีความเสี่ยงขั้นรุนแรงที่จะไม่มีไฟฟ้าพอใช้

รศ.ภิญโญ มีชำนะ ประธานชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการเดินทางไปดูงานยังโรงไฟฟ้าถ่านหินประเทศต่างๆ มาแล้วทั่วโลก แต่ไม่เคยพบกรณีความเจ็บป่วยร้ายแรง หรือการเสียชีวิต จากที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดเป็นสาเหตุอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งมีกำลังการผลิต 2,400 เมกะวัตต์ ก็ตั้งอยู่ริมทะเลเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าเทพา โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องมา ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ระบุว่าเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อประชาชนในพื้นที่

ขณะเดียวกัน ในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา โปแลนด์ ไต้หวัน จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ตุรกี ฯลฯ ต่างก็มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่รวมกันหลายร้อยโครงการ

“ที่สำคัญก็คือทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างต้องเคารพกฎหมาย โดยที่ผ่านมาโครงการโรงไฟฟ้าเทพาได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายในการขออนุญาตก่อสร้าง และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมก็ดีกว่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษประกาศใช้ในปัจจุบัน” รศ.ภิญโญ กล่าว

รศ.ภิญโญ กล่าวอีกว่า อยากจะให้รัฐบาลเดินหน้าโรงไฟฟ้าเทพาต่อไป เพราะว่าขั้นตอนของโรงไฟฟ้าอยู่ในขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผ่านไปแล้ว ส่วนกรณีของท่าเรือกำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำรายงาน อยากจะให้ดำเนินตามขั้นตอนต่อไปตามปกติ

“ถ้าไปหยุดขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายอาจจะเกิดความเสียหาย จะทำให้ขาดความเชื่อมั่นกับนักลงทุน เพราะการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถสร้างได้หมายความว่าอย่างไร ทั้งที่เป็นโครงการของรัฐแท้ๆ แล้วโครงการเอกชนละมีปัญหาขนาดไหน นักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่นไปยังที่อื่นดีกว่า” รศ.ภิญโญ กล่าว

อนึ่ง ชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยคณาจารย์และนักวิชาการจากหลากหลายสาขา ทั้งจากสถาบันการศึกษาและนักวิชาการอิสระรวม 43 ราย อาทิ รศ.ภิญโญ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน นายสุรพันธ์ วงษ์โอภาสี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ รศ.ภิญโญ เป็นผู้ผลักดันและมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี และเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร และ จ.เลย