พบอีก! สารปรอทในปลาและเส้นผมคนสูงเกินเกณฑ์ ทั้งเขตอุตสาหกรรม-โรงไฟฟ้าถ่านหิน (18 ก.ย. 60)

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 18 กันยายน 2560
พบอีก! สารปรอทในปลาและเส้นผมคนสูงเกินเกณฑ์ ทั้งเขตอุตสาหกรรม-โรงไฟฟ้าถ่านหิน 

ผลศึกษาพบปลามาบตาพุด – พื้นที่อุตสาหกรรมมีสารปรอทสูงเกินมาตรฐาน สอดคล้องค่าสารปรอทในเส้นผมผู้หญิงใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมใหญ่ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ เสี่ยงอันตรายต่อสมอง ไต หากตั้งท้องกระทบลูกในครรภ์

          18 กันยายน 2560 ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มูลนิธิบูรณะนิเวศได้แถลงผลการศึกษาทางวิชาการเรื่อง “การปนเปื้อนสารปรอทในปลาและร่างกายมนุษย์ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559-2560”  ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันของ “เครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม” หรือไอเพน (International POPs Elimination Network: IPEN) สมาคมอาร์นิกา องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศสาธารณรัฐเช็ก และมูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยแบ่งออกเป็นการศึกษาปริมาณสารปรอทในเส้นผมของสตรีวัยเจริญพันธุ์ และสารปรอทในสัตว์น้ำในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม
 
          ในส่วนของการศึกษาปริมาณสารปรอทในเส้นผมสตรีวัยเจริญพันธุ์ คณะผู้ศึกษาได้ทำการเก็บตัวอย่างเส้นผมอาสาสมัคร ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีอายุในระหว่าง 18-44 ปี จำนวน 68 คนจาก 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่รอบเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จำนวน 34 คน (จากชุมชนวัดมาบตาพุด ชุมชนซอยประปา 2  ชุมชนตลาดลาว ชุมชนตากวน-อ่าวประดู่ และชุมชนในตำบลเนินพระ)  และพื้นที่บริเวณเขตอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษและโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 34 คน (จาก 3 ตำบล ได้แก่  ต. ท่าตูม ต.บ้านทาม และ ต.หาดนางแก้ว) ก่อนนำไปตรวจวิเคราะห์ระดับสารปรอทในห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Research Institute: BRI) สหรัฐอเมริกา 
 
          ผลศึกษาพบปลามาบตาพุด – พื้นที่อุตสาหกรรมมีสารปรอทสูงเกินมาตรฐาน สอดคล้องค่าสารปรอทในเส้นผมผู้หญิอัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิชาการจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวเปิดเผยผลการศึกษา ซึ่งพบว่าตัวอย่างเส้นผมของผู้หญิงจำนวน 50 จาก 68 คน หรือประมาณร้อยละ 73.5 ของอาสาสมัครทั้งหมด มีสารปรอทสูงเกิน 1 ppm ซึ่งเกินเกณฑ์อ้างอิงสำหรับสารปรอทในเส้นผม” ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา (USEPA) ชี้ว่ามีความเสี่ยงที่สารปรอทจะส่งผลต่อสมองและอาจทำให้ระดับสติปัญญาลดลง รวมถึงอาจก่ออันตรายต่อไตและหัวใจ  ขณะเดียวกันก็พบว่า ตัวอย่างเส้นผมของผู้หญิงจำนวน 67 จาก 68 คน หรือประมาณร้อยละ 98.5 ของอาสาสมัครทั้งหมด มีสารปรอทสูงเกิน 0.58 ppm ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้นที่นักวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า หากผู้หญิงตั้งครรภ์มีสารปรอทสูงเกินกว่านี้จะทำให้ระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ผิดปกติได้

          โดยเมื่อพิจารณาตามพื้นที่จะพบว่า  ร้อยละ 68 (23 จาก 34 คน) ของอาสาสมัครจากพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีค่าสารปรอทในเส้นผมสูงเกิน 1 ppm และร้อยละ 97 (33 จาก 34 คน) มีสารปรอทในเส้นผมสูงเกิน 0.58 ppm  ส่วนพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี  พบว่า ร้อยละ 79 (27 จาก 34 คน) มีค่าสารปรอทในเส้นผมสูงเกิน 1 ppm และร้อย 100 หรือทั้งหมดของอาสาสมัครจากพื้นที่นี้ ที่มีสารปรอทสูงเกิน 0.58 ppm สำหรับค่าสารปรอทต่ำสุดของพื้นที่มาบตาพุดอยู่ที่ 0.562 ppm ค่าสูงสุดอยู่ที่ 12.512 ppm โดยมีค่าเฉลี่ยคือ 4.34 ppm  ส่วนพื้นที่ 3 ตำบลของจังหวัดปราจีนบุรีมีค่าสารปรอทต่ำสุดอยู่ที่ 0.625 ppm ค่าสูงสุดอยู่ที่ 10.093 ppm และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.81 ppm
 
 
          “ในแง่หนึ่ง ผลการศึกษาครั้งนี้ก็อาจสะท้อนได้ว่า ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งมีโรงไฟฟ้าที่ปลดปล่อยสารปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงทางสุขภาพสูงกว่าคนทั่วไป และความเสี่ยงนี้ยังรวมไปถึงทารกในครรภ์ของพวกเธอด้วย” อัฏฐพรกล่าวให้ความเห็น
 
          สำหรับการศึกษาสารปรอทในสัตว์น้ำในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม คณะผู้ศึกษาได้ทำการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาน้ำจืด ปลาทะเล และหอย จำนวน 39 ตัวอย่าง จากพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เลย ขอนแก่น  ในส่วนนี้ อัครพล ตีบไธสง นักวิชาการจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้กล่าวเปิดเผยผลการศึกษาว่า จากการวิเคราะห์ตัวอย่างสัตว์น้ำทั้งหมด พบว่า ปลาทะเล 2 ใน 14 ตัวอย่างมีสารปรอทเกินเกณฑ์มาตรฐานปลาทะเลและอาหารทะเลของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้มีสารปรอทปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.5 ppm  ส่วนปลาน้ำจืด 18 ใน 25 ตัวอย่าง พบสารปรอทสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้มีสารปรอทได้ไม่เกิน 0.02 ppm ทั้งนี้ ระดับสารปรอท (Total Mercury) ที่พบในปลาแตกต่างกันไปตามชนิดของปลาและพื้นที่ของแหล่งที่สารปรอทปนเปื้อน กล่าวคือปลากินเนื้อขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะพบปรอทสูงกว่าปลากินพืช เช่น ปลาช่อน มีปรอทโดยเฉลี่ย 0.257 ppm โดยร้อยละ 82 ของตัวอย่างปลาช่อน ซึ่งเป็นปลาที่พบบ่อยและเป็นปลาเศรษฐกิจน้ำจืดที่สำคัญ พบปรอทสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานฯ  นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า สัตว์น้ำจากพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ห่างเขตพัฒนาอุตสาหกรรม 2 แห่ง ได้แก่ จ.จันทบุรีและปราจีนบุรี ก็มีการปนเปื้อนสารปรอทในระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ
 
          “ผลที่ออกมาพบว่า แหล่งปนเปื้อนสารปรอทที่สำคัญในการศึกษาครั้งนี้ คือ พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง และพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทั้งสองพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่น โดยเฉพาะมาบตาพุด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายประเภท มีการปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมทั้งทางอากาศ น้ำ และดิน ขณะที่พื้นที่ปราจีนบุรีเป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษรายใหญ่และมีโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่น้อยกว่า 5 แห่ง ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
 
          ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาครั้งนี้ ยังพบด้วยว่า ปลาจากพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ห่างเขตพัฒนาอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จ.จันทบุรี ก็มีการปนเปื้อนสารปรอทในระดับสูง ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า พื้นที่เหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของสารปรอท ซึ่งเป็นสารอันตรายที่สามารถเดินทางได้ไกลในชั้นบรรยากาศ และหากสมมุติฐานนี้เป็นจริง คือได้เกิดแพร่กระจายออกไปไกลลักษณะนี้แล้ว ก็แปลว่าขอบเขตความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนก็ขยับตามออกไปด้วย” อัครพลกล่าว
 
          เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ศึกษาและติดตามปัญหาสารปรอทในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายคนมาตั้งแต่ปี 2556 ทั้งนี้ภายหลังจากที่มูลนิธิฯ ได้เปิดเผยผลการศึกษาสารปรอทในปลาและเส้นผมของคนใน ต.ท่าตูม จ.ปราจีนบุรี เมื่อต้นปี 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 27/2556 เรื่อง จัดตั้งคณะทำงานไตรภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมลพิษและสารปรอท บริเวณสวนอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี คณะทำงานฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด รวมถึงตัวแทนชุมชน ได้มีมติให้ตรวจสอบหาที่มาของสารปรอทที่เป็นสาเหตุการปนเปื้อนในปลาและเส้นผมของคน และให้มีการฟื้นฟูคลองชลองแวง ซึ่งเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติและของสำนักงานประมงจังหวัด ให้มีระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยดังเดิม แต่จนปัจจุบัน การแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าอะไร 
 
          โดยในปี 2559  นพ. ลีโอนาร์โด ทราซานเด (Leonardo Trasande, MD)  ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ด้านกุมารแพทย์ เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และคณะ ได้ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากกรณีการปนเปื้อนสารปรอทในปลาและเส้นผมคนของในพื้นที่ ต.ท่าตูม จ.ปราจีนบุรี รวมถึงประเทศอื่นๆ รวม 15 ประเทศ และตีพิมพ์ในวารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม (Journal of Environmental Management, 2016)  ซึ่งสำหรับกรณี ต.ท่าตูม  นพ.ทราซานเดและคณะประเมินว่า การปนเปื้อนสารปรอทในพื้นที่นี้ที่จะมีผลทำให้ระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ลดต่ำ และส่งผลให้สมรรถภาพของบุคคลในการดำรงชีพและสร้างรายได้ลดลงตามไอคิวที่ลดต่ำลงนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าราว 278,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี (เมื่อเทียบกับเกณฑ์สารปรอทสูง 1.00 พีพีเอ็ม) และความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภาระโรคที่จะเกิดขึ้น คิดเป็นมูลค่า 157,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 5.5 ล้านบาทต่อปี (เมื่อเทียบกับเกณฑ์สารปรอทที่ 1.00 ppm)
 
ทั้งนี้ สารปรอทเป็นสารอันตรายที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ สามารถตกค้างได้ยาวนานในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารปรอทที่ปลดปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ตั้งแต่การขุดเจาะ การกลั่นน้ำมัน และการแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ การรีไซเคิลของเสีย และอื่นๆ สารปรอทสามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ  และถ่ายทอด-เพิ่มความเข้มข้นได้ตามลำดับชั้นของห่วงโซ่อาหาร (bioaccumulation and bio-magnification) สารปรอทจึงมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอันตรายต่อระบบประสาทและการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์และเด็กเล็ก 
 
          “ด้วยเหตุนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และผู้แทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน จึงได้ร่วมกันพัฒนาอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (The Minamata Convention on Mercury) ขึ้นตั้งแต่ ปี 2553  และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในหลักการของอนุสัญญามินามาตะฯ เมื่อปี 2556  “อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” จึงเป็นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศฉบับล่าสุดที่จะนำไปสู่การควบคุม การลด  และการเลิกใช้สารปรอทในกิจกรรมต่างๆ  รวมถึงการลดการปลดปล่อยสารปรอทจากแหล่งกำเนิดต่างๆ อันเป็นกิจกรรมของมนุษย์  เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานปูนซีเมนต์ และอื่นๆ
 
          สำหรับประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญามินามาตะฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560  โดยจัดเป็นประเทศภาคีลำดับที่ 66 ของโลก  และในระหว่างวันที่ 23 - 29 กันยายน 2560 ที่จะถึงนี้ ไทยก็จะเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 1 (COP1) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับผู้แทนระดับรัฐบาลของประเทศอื่นๆ  เพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญามินามาตะฯ ได้แก่ การนำเข้าและส่งออกสารปรอทของประเทศภาคี, การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยปรอท,  การกำหนดเป้าประสงค์เชิงปริมาณและกำหนดค่าขีดจำกัดการปลดปล่อยปรอท, การพิจารณาแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุดที่มีอยู่และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BAT/BEP), แนวทางข้อยกเว้นสำหรับภาคีเมื่อมีการร้องขอที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอทและกระบวนการผลิตที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอท และการรวบรวมข้อมูลการปลดปล่อยปรอทจากการเผาไหม้แบบเปิด (open burning) ของแต่ละประเทศ เป็นต้น” เพ็ญโฉมกล่าวทิ้งท้าย