นักวิชาการ มน. ชี้ ผลตรวจสารหนูชาวบ้านใกล้ "เหมืองทองพิจิตร" "หลังกินอาหารทะเล" ไม่แก้ปัญหา - "ไม่ใช่งานวิจัย" (28 ก.ค. 60)

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 28 กรกฎาคม 2560
นักวิชาการ มน. ชี้ ผลตรวจสารหนูชาวบ้านใกล้ "เหมืองทองพิจิตร" "หลังกินอาหารทะเล"
ไม่แก้ปัญหา - "ไม่ใช่งานวิจัย"


ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์  (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์)

ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. โพสต์สเตตัสติง "ระเบียบวิธีวิจัย" กรณีกลุ่ม "นักวิจัยอิสระ" เผยผลการศึกษาระดับสารหนูในปัสสาวะประชาชนรอบเหมืองทองพิจิตร ที่เพิ่มสูงขึ้น 5.5 เท่าหลังรับประทานอาหารทะเล ว่าเป็นเพียงการสาธิตให้ทราบข้อมูลที่แพร่หลายอยู่แล้ว "ไม่ใช่งานวิจัย" ชี้ในอาหารทะเลเป็น "สารหนูอินทรีย์" ไม่ทำให้ป่วย

          จากกรณี "กลุ่มนักวิจัยอิสระ" ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและแพทย์จากหลายหน่วยงาน ได้เปิดเผยผลการวิจัย "การศึกษาระดับของสารหนูในปัสสาวะหลังกินอาหารทะเล เปรียบเทียบกับอาหารอื่นในประชากรรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี"[1] อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 60 ที่ผ่านมา

          โดยผลการวิจัยดังกล่าวได้พบว่า “สารหนูพุ่งสูงถึง 5.5 เท่า หลังรับประทานอาหารทะเลเมื่อเปรียบเทียบกับค่าก่อนกินขณะที่ผู้รับประทานอาหารทั่วไปไม่พบสารหนูเกินเกณฑ์มาตรฐาน”  อีกทั้งได้มีการรายงานผ่านสื่อบางสำนักว่า “...นักวิชาการอธิบายผลการวิจัย ชาวบ้านที่ได้เข้าพิสูจน์ด้วยตนเองเมื่อฟังเหตุผลต่างเข้าใจสรุปฟันธงว่า สารหนูที่อยู่ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นเกิดมาจากการรับประทานอาหารทะเลไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ทองคำชาตรีอย่างที่ชาวบ้านวิตกหรือหวาดผวา...”[2]

          โดยสื่อมวลชนหลายสำนักได้เผยแพร่วิธีการศึกษา หรือ "ระเบียบวิธีวิจัย" ของงานศึกษาครั้งนี้ ซึ่งได้แก่ การสุ่มประชาชนพื้นที่รอบเหมืองทองในรัศมี 5 กิโลเมตร จำนวน 97 คน (ทุกเพศทุกวัย) มาจับสลากแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  แล้วกลุ่มแรกรับประทานอาหารทะเล กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานอาหารที่ไม่มีอาหารทะเล โดยก่อนจะให้รับประทานอาหารได้มีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาค่าสารหนูในร่างกาย จากนั้นหลังรับประทานอาหาร 12 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง ได้ทำการตรวจปัสสาวะเพื่อเปรียบเทียบค่าสารหนู ซึ่งพบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารทะเลไปแล้ว 12 ชั่วโมง มีสารหนูเพิ่มขึ้น 5.5 เท่า และเมื่อผ่านไป 72 ชั่วโมง ก็พบว่ามีค่าสารหนูกับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่แตกต่างกับตอนที่ก่อนจะรับประทานอาหารทะเล[3] 
 

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 60 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) หนึ่งในนักวิชาการที่ได้ติดตามและศึกษาปัญหาการปนเปื้อนในพื้นที่เหมืองทองคำมาอย่างต่อเนื่อง ได้เผยแพร่ความเห็นผ่านการตั้งสเตตัส (status) ใน Facebook ส่วนตัว ต่อการศึกษาวิจัยของกลุ่ม "นักวิจัยอิสระ" ในครั้งนี้ว่า เมื่อพิจารณาจากระเบียบวิธีวิจัยแล้ว ตนเห็นว่าไม่ใช่งานวิจัย เป็นเพียงการนำองค์ความรู้ "ที่ทราบกันอยู่แล้ว" มาสาธิตให้ประชาชนดู ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าอาหารทะเลนั้นมีสารหนู

            ทั้งนี้ ผศ. ดร. ธนพล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สารหนูในอาหารทะเลนั้น เป็น "สารหนูอินทรีย์" ซึ่งไม่ทำให้ป่วย อีกทั้งจะถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว จึงแทบไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย (ต่างจาก “สารหนูอนินทรีย์” ที่มีพิษมากกว่า สามารถพบได้ในดินและสายแร่โดยผสมอยู่กับโลหะตัวอื่นๆ /กองบรรณาธิการ) และได้แนบ link บทความวิจัยภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว มาในความเห็นดังกล่าวด้วย


สเตตัส ของ ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์

            นอกจากนี้ ผศ. ดร. ธนพล ยังได้แสดงความวิตกว่า การสาธิตให้ประชาชนได้ทราบว่าในอาหารทะเลมีสารหนูนั้นเป็นสิ่งที่ดี หากไม่ทำให้หลงประเด็น  พร้อมกับตั้งคำถามว่า การได้รู้ว่าอาหารทะเลมีสารหนู (อินทรีย์) จะแก้ทุกปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมสำหรับกรณีเหมืองทองพิจิตรได้จริงหรือ  และการตรวจปัสสาวประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่เหมืองทองคำโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ครั้ง ในห้วงเวลาราว 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบสารหนูเกินค่าที่ยอมรับได้นั้น "คนที่สารหนูเกินนี่รับประทานอาหารทะเลทุกคน?" "ทานอาหารทะเลเป็นปกติไหม?"

"...ประเด็นคือหากจะติดตามการรับสัมผัสสารหนูต่อไปก็ต้องเก็บพฤติกรรมด้วย (ก่อนผลวิเคราะห์จะออก) ว่ามีการรับประทานอาหารทะเลไหม? ควรพิจารณาทำ Arsenic Speciation ในปัสสาวะ แยกสารหนูอินทรีย์ และ อนินทรีย์ จะได้รู้ชัด รับจากที่ไม่ใช่อาหารทะเลเท่าใด

ประเด็นคือรู้ชัดหรือยังว่ามีเส้นทางอื่นในการรับสัมผัสสารหนูอีกไหม? เส้นทางใดเกี่ยวข้องกับเหมือง?..."
        

            อย่างไรก็ตาม ผศ. ดร. ธนพล ได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า ตนเห็นว่าการสรุปในข่าวของสื่อบางสำนัก ที่ว่า  "...นักวิชาการอธิบายผลการวิจัย ชาวบ้านที่ได้เข้าพิสูจน์ด้วยตนเองเมื่อฟังเหตุผลต่างเข้าใจสรุปฟันธงว่า สารหนูที่อยู่ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นเกิดมาจากการรับประทานอาหารทะเลไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ทองคำชาตรีอย่างที่ชาวบ้านวิตกหรือหวาดผวา..." นั้นยังคงมีความกำกวมว่า "คือตกลงหมายถึงผลการตรวจโดยกรรมการสองครั้ง ปี สองปีที่แล้ว ที่พบสารหนูเกินค่าที่ยอมรับได้ในปัสสาวะ ตกลงเป็นเพราะอาหารทะเล?? อันนี้ไม่แน่ใจนักข่าว หรือ นักวิจัยสรุป?"

 


 

อ่าน "สเตตัส" ฉบับเต็ม ของ ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ ได้ที่  https://www.facebook.com/tphenrat/posts/10154660005567882

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง

[1] “นักวิจัยเผยเหตุสารหนู ปชช.รอบเหมืองสูง”, ไทยรัฐ, 23 กรกฎาคม 2560. https://www.thairath.co.th/content/1013250

[2] "เปิดข้อมูลอีกด้าน นักวิจัยอิสระ ตรวจชัด เจอต้นเหตุสารหนูในร่างกายประชาชนรอบเหมืองอัคราแล้ว", ทีนิวส์, 22 กรกฎาคม 2560. http://www.tnews.co.th/contents/339852

[3] เพิ่งอ้าง.