4 แหล่งปิโตรเลียม "วิเชียรบุรี-แหล่งบึงหญ้า-บึงม่วง-ดงมูล" สะเทือน! หวั่นสูญแสนล้าน (8 มิ.ย. 60)

ประชาติธุรกิจออนไลน์ 8 มิถุนายน 2560
4 แหล่งปิโตรเลียม "วิเชียรบุรี-แหล่งบึงหญ้า-บึงม่วง-ดงมูล" สะเทือน! หวั่นสูญแสนล้าน

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนระเบียบการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ลามพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมบนบก "วิเชียรบุรี-แหล่งบึงหญ้า-บึงม่วง-ดงมูล" สะเทือน ธุรกิจผลิต-สำรวจน้ำมันดิบแสนล้านป่วนหนัก เจ้าของสัมปทาน 4 รายผวาการผลิตชะงัก กรมเชื้อเพลิงฯวุ่นหาทางออก ชงใช้ ม.44 แก้ ขีดเส้นต้องจบใน 1 เดือน หวั่นบานปลายกระทบความมั่นคงพลังงาน เปิดประมูลให้สิทธิ์สำรวจผลิตปิโตรฯรอบใหม่ ท้องถิ่นรายได้หายวับ ด้านเอกชนขู่ฟ้องรัฐ

จากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ซึ่งเป็นไปได้สูงที่ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อาจได้รับผลกระทบต้องหยุดการผลิตปิโตรเลียม

ไม่ว่าจะเป็นแหล่งสิริกิติ์ หรือเอส 1 (S1) ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด หรือบริษัทย่อยของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ได้ยื่นหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งขอหยุดการผลิตปิโตรเลียมไปตั้งแต่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังรับทราบคำพิพากษา คาดว่ายังจะมีแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบตามมาอีก

พท.สัมปทาน 4 แหล่งผลิตอ่วม
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกเปิดเผย ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่นนั้น ส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก. ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แม้จะได้สิทธิ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้วก็ตาม

แหล่งที่จะได้รับผลกระทบทันทีคือ 1) แหล่งสิริกิติ์ ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด บริษัทในเครือของบมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2) แหล่งบึงหญ้า บึงม่วง ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ของบริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด 3) แหล่งวิเชียรบุรี ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) และ 4) แหล่งดงมูล ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ของกลุ่มบริษัท อพิโก้

ธุรกิจสำรวจ-ผลิตแสนล้านป่วน
นอกจากผู้ได้รับสัมปทานทั้ง 4 รายได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังกระทบถึงการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่น ขนส่งน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน เมื่อคำนวณรวมผลกระทบทั้งหมด คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 100,000 ล้านบาท

ในแง่ผลประโยชน์เข้ารัฐในส่วนของ ค่าภาคหลวงŽ ก็จะลดลงไปด้วย จากปัจจุบันผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจะต้องจ่ายค่าภาคหลวงที่ร้อยละ 12.5 สำหรับไทยแลนด์ 1 ค่าภาคหลวงร้อยละ 5-15 สำหรับไทยแลนด์ 3 จากมูลค่าของปิโตรเลียม

ท้องถิ่นรายได้หายวับ
ทั้งนี้ ค่าภาคหลวงดังกล่าวยังถูกแบ่งเป็น 1) รายได้จัดเก็บเข้าคลังร้อยละ 40 2) รายได้เข้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลในพื้นที่ที่มีการผลิตร้อยละ 20 3) รายได้จัดเก็บเข้าองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในพื้นที่ที่มีการผลิตร้อยละ 20 4)รายได้เข้า อบต.และเทศบาลในจังหวัดที่มีการผลิตร้อยละ 10 และ 5) รายได้เข้า อบต.และเทศบาลทั่วประเทศ

โดยคาดว่ารายได้ที่จะต้องเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะหายไปประมาณ 4-5 ล้านบาท/เดือน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบนี้จะยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในช่วงนี้ แต่จะสะท้อนให้เห็นชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

กระทบความมั่นคงด้านพลังงาน
ที่น่าห่วงมากที่สุดคือผลกระทบด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเพราะแม้ว่าทั้ง 3 แหล่งผลิตที่เปิดทำการผลิตปิโตรเลียมแล้วจะมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบไม่มาก แต่เมื่อหยุดทำการผลิตก็ทำให้ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ภายในประเทศลดลงส่วนหนึ่ง จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจะมีมากขึ้นหากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน แทนที่จะพึ่งพาพลังงานในประเทศได้บ้างก็พึ่งพาได้น้อยลง

"เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองเท่ากับว่าให้กิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก.เป็นโมฆะทั้งหมด แม้ว่าผู้รับสัมปทานทั้งหมดจะดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมายทั้งหมด จากกรณีนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าในประเด็นข้อกฎหมายของหน่วยงานภาครัฐค่อนข้างมีปัญหา ที่สำคัญไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ต่างคนต่างร่างกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ สุดท้ายภาคเอกชนก็ต้องแบกรับความเสี่ยงนี้ต่อไปŽ"

ขีดเส้น 1 เดือนแก้ปัญหาจบ
อย่างไรก็ตาม จากนี้กรณีที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ในระหว่างหาแนวทางแก้ไข จากนั้นจะนำเสนอรัฐบาลพิจารณาโดยเร่งด่วน แนวทางที่เป็นไปได้ เช่น อาจจะเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรืออาจจะใช้วิธีการขอเวนคืนพื้นที่ที่มีปัญหา รวมทั้งเสนอให้ใช้มาตรา 44 โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ปัญหา ให้อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายจะต้องแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพราะหากล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการเปิดให้ภาคเอกชนยื่นขอสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนก.ค. 2560 นี้ เนื่องจากมีหลายพื้นที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.ด้วยเช่นกัน

เอกชนขู่ฟ้องรัฐ
แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมถึงบริษัทผู้รับสัมปทานทั้ง4 แหล่งที่ได้รับผลกระทบด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นการแก้ไขปัญหา ซึ่งในกรณีที่สุดท้ายแล้วหากภาครัฐยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ก็เตรียมที่จะฟ้องศาลด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาตามขั้นตอนตั้งแต่ยื่นขอสิทธิ์ในการสำรวจ หรือการจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ผู้รับสัมปทานก็ดำเนินการอย่างถูกต้อง และหากผู้รับสัมปทานดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเกิดขึ้นจริง โอกาสที่จะชนะคดีมีค่อนข้างสูง

ด้านนายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าวแล้วว่ามีผู้ประกอบการต้องหยุดกิจกรรมในพื้นที่ ส.ป.ก. ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ป.ก.จะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้