เปิดรายงาน คพ. "มลพิษ 2559" ขยะเพิ่ม 1.9 แสนตัน แหล่งน้ำ 23% เสื่อมโทรม อากาศวิกฤติ 3 พื้นที่ (18 ม.ค. 59)

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) 18 มกราคม 2559

เปิดรายงาน คพ. "มลพิษ 2559" ขยะเพิ่ม 1.9 แสนตัน ของเสียอันตรายกว่า 3.5 ล.ตัน
แหล่งน้ำ 23% เสื่อมโทรม อากาศวิกฤติ 3 พื้นที่

ธวัชพงศ์ อาจเอี่ยม มูลนิธิบูรณะนิเวศ
รายงาน


(ภาพ: กรมควบคุมมลพิษ)

เปิดรายงานกรมควบคุมมลพิษ "สถานการณ์มลพิษ 2559" มูลฝอยชุมชนเพิ่ม 1.9 แสนตัน 43% กำจัดไม่ถูกต้อง  พบกากอุตสาหกรรมอันตรายกว่า 2.8 ล้านตัน 65% จัดการไม่ถูกต้อง  ด้านอากาศวิกฤติ 3 พื้นที่ หมอกควันภาคเหนือ ฝุ่นหน้าพระลาน สระบุรี และ VOCs มาบตาพุด ระยอง  ส่วนคุณภาพน้ำ น้ำทะเลชายฝั่งเกณฑ์ดี แม่น้ำ-แหล่งน้ำนิ่ง 43% พอใช้ 23% เสื่อมโทรม ชี้เหตุปล่อยทิ้งไม่บำบัด  ด้านเหตุร้องเรียน-อุบัติภัย "โรงงาน" ถูกร้องมากสุด 61%

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดแถลงข่าว เรื่อง “สถานการณ์มลพิษ ประจำปี 2559” ที่ ห้องประชุม 301 อาคารกรมควบคุมมลพิษ โดยมีจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี คพ. เป็นประธานในการแถลง และมีสื่อมวลชนรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก


สถานการณ์คุณภาพน้ำ
สำหรับสถานการณ์คุณภาพน้ำ คพ. ระบุว่า น้ำทะเลชายฝั่งร้อยละ 59 อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 31 อยู่ในเกณฑ์เกณฑ์พอใช้  ร้อยละ 7 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม และร้อยละ 2 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก โดยเริ่มพบคุณภาพน้ำเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 1  

ขณะที่แม่น้ำสายหลัก 59 สายและแหล่งน้ำนิ่ง 6 แห่งนั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43 อยู่ในเกณฑ์พอใช้  ร้อยละ 34 อยู่ในเกณฑ์ดี  และร้อยละ 23 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม โดยไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก

ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหามลพิษทางน้ำนั้น  คพ. ระบุว่า เกิดจากการระบายน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ โดยน้ำเสียจากชุมชนมากกว่า 24 ล้านครัวเรือน หรือ 9.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ได้รับการบำบัดเพียง 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากระบบบำบัดน้ำเสียรวมที่มีอยู่ 101 แห่งทั่วประเทศซึ่งใช้งานได้เพียง 88 แห่ง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีงบประมาณในการลงทุนระบบและค่าบำรุงรักษาระบบ ขณะเดียวกันแหล่งกำเนิดน้ำเสียอื่นๆ รวมทั้งสถานประกอบการทั้งในชุมชน อุตสาหกรรม เกษตรกรรมหลายแห่ง ก็ไม่บำบัดน้ำเสียของตนเองหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น แหล่งกำเนิดมลพิษที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ 51 ลุ่มน้ำท่าจีน ร้อยละ 16

สำหรับการจัดการน้ำเสียในอนาคต จะเสนอให้มีการจัดเก็บเงินสำหรับการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทั้งระบบ ตามหลัก "ผู้ใช้น้ำ เป็นผู้จ่าย" ฟื้นฟูระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนที่มีอยู่และจัดสร้างเพิ่มเติมในพื้นที่วิกฤติ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ และจะมีการสื่อสารข้อมูลผลการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักและประชาชนเข้ามาร่วมเฝ้าระวังการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม
 


(ภาพ: กรมควบคุมมลพิษ)



สถานการณ์คุณภาพอากาศ
ด้านสถานการณ์คุณภาพอากาศ ในภาพรวมของประเทศไทยในปี 2559 ปัญหาหลัก คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) จาก 31 จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จังหวัดที่มีฝุ่นละออง (PM10) เกินค่ามาตรฐานในรอบปีมากกว่าร้อยละ 5 ได้แก่ สระบุรี เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่

ทั้งนี้ มีพื้นที่วิกฤติคุณภาพอากาศอยู่ 3 พื้นที่ ได้แก่
(1) สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ
(2) สถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และ
(3) สถานการณ์ปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

ซึ่งทาง คพ.เอง ได้วางแนวทางการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเน้นการควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ โดยจะยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้ได้มาตรฐานไอเสียและมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่า EURO 5/ EURO 6 อยู่ในระดับสากล ส่วนแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤติ ได้แก่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนนั้น จะบูรณาการการดำเนินงานกับกระทรวงมหาดไทย ตามแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2560 จะสามารถลดความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันให้ได้ร้อยละ 20  สำหรับในส่วนของการควบคุมมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ก็จะเน้นมาตรการที่เข้มข้นขึ้น

โดยเกี่ยวกับประเด็นนี้ สื่อมวลชนได้ซักถามถึงสถานการณ์คุณภาพอากาศ ในส่วนของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งทางอธิบดี คพ. ได้กล่าวตอบว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ยังคงเป็นปัญหาอยู่ เช่น ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ หากกล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก็คงมีปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษเองก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ อนาคตคงจะต้องมีการทบทวนมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ให้เข้มข้นมากขึ้น


(ภาพ: กรมควบคุมมลพิษ)


สถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย
สำหรับสถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ขยะมูลฝอยชุมชน ในปี 2559 เกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.04 ล้านตัน (หรือประมาณ 74,073 ตันต่อวัน) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 190,000 ตัน (ร้อยละ 0.7)  โดยเป็นขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร 4.20 ล้านตัน และใน 76 จังหวัด 22.84 ล้านตัน โดย 5 จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรปราการ ขอนแก่น  โดยปัจจุบันคนไทย 1 คน สร้างขยะโดยเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

โดยการจัดการในปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,777 แห่ง มี 4,545 แห่ง ที่ให้บริการเก็บขนนำไปกำจัด เป็นจำนวน 13.6 ล้านตัน (ร้อยละ 50 ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น)  โดยถูกกำจัดในสถานที่กำจัดอย่างถูกต้องจำนวน 9.59 ล้านตัน หรือร้อยละ 36  และถูกกำจัดที่สถานที่กำจัดไม่ถูกต้อง (เผากลางแจ้ง เทกองทิ้งบ่อดินเก่า/พื้นที่รกร้าง) จำนวน 11.69 ล้านตัน หรือร้อยละ 43  ส่วนการคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์มีเพียง 5.76 ล้านตัน หรือร้อยละ 21

สำหรับ "สถานการณ์ของเสียอันตราย" ในปี 2559 มีของเสียอันตรายเกิดขึ้นทั่วประเทศ 3,512,069 ตัน จำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ของเสียอันตรายจากชุมชน กากอุตสาหกรรม และมูลฝอยติดเชื้อ

โดยของเสียอันตรายจากชุมชนมีปริมาณ 606,319 ตัน ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 393,070 ตัน (ร้อยละ 65) และที่เกิดขึ้นในครัวเรือน 213,249 ตัน (ร้อยละ 35) เช่น แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย

ส่วนกากอุตสาหกรรมอันตรายมีปริมาณ 2,850,000 ตัน โดย 1,880,000 ตัน หรือร้อยละ 65 ได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง ขณะที่มูลฝอยติดเชื้อมีปริมาณ 55,750 ตัน ที่เกิดจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน คลินิก สถานพยาบาล สถานพยาบาลสัตว์ ห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องร้อยละ 75 โดยการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ

ทั้งนี้ ในอนาคต กรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564 เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของประเทศที่ต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการทั้งการลด การเกิด ณ แหล่งกำเนิด การคัดแยกขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชน เพิ่มศักยภาพการเก็บขนและกำจัด จัดให้มีสถานที่รวบรวมและกำจัดของเสียอันตรายชุมชน วางระบบการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์เมื่อหมดอายุการใช้งาน สร้างความรับผิดชอบและความตระหนักของทุกภาคส่วน การออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประสานกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ ในการกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรมอันตรายและมูลฝอยติดเชื้อ

นอกจากนี้ คพ. ยังได้ระบุถึงแนวทางการจัดการซากโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า ภาครัฐได้จับมือกับภาคีเครือข่ายด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้จำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการจัดการของเสียอันตราย ในการนำร่องแนวทางการจัดการซากโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยจะมีการกำหนดการเรียกคืน จุดรับคืน และสร้างแรงจูงใจแก่ประชาชนในการนำซากโทรศัพท์เคลื่อนที่มาคืน โดยกำหนดเป้าหมายในการเก็บคืนซากโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ได้ 9 ล้านเครื่อง ภายในปี 2560





(ภาพ: กรมควบคุมมลพิษ)

 


การร้องเรียน เหตุฉุกเฉิน และอุบัติภัยด้านสิ่งแวดล้อม
ในส่วนข้อมูลการร้องเรียน เหตุฉุกเฉิน และอุบัติภัยด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุด คือ กลิ่นเหม็น คิดเป็นร้อยละ 42  เสียงรบกวนร้อยละ 19  ฝุ่นละอองและเขม่าควันร้อยละ 23  น้ำเสียร้อยละ 12 และขยะร้อยละ 3

โดยแหล่งกำเนิดมลพิษที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ โรงงานอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ  61  สถานประกอบการร้อยละ 19  การเลี้ยงสัตว์ร้อยละ 6  

สำหรับเหตุฉุกเฉินและอุบัติภัยด้านมลพิษที่เกิดขึ้นในรอบปี 2559 พบว่ามีจำนวน 25 ครั้ง โดยสาเหตุหลักมาจากเพลิงไหม้โรงงาน การขนส่งสารเคมี และการลักลอบทิ้งกากของเสีย ตามลำดับ  โดยจังหวัดที่พบว่าเกิดเหตุบ่อยที่สุดคือ ระยอง กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการและการกำกับดูแลด้านมลพิษยังคงต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ระหว่างการแถลงข่าว สื่อมวลชนได้ซักถามถึงสถานการณ์ขยะในพื้นที่อุทกภัยภาคใต้ ซึ่งอธิบดี คพ. ได้กล่าวตอบว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยภาคใต้ โดยประเด็นที่กรมควบคุมมลพิษกำลังติดตามอยู่ คือ ขยะบางส่วนที่ถูกน้ำพัดพาออกนอกพื้นที่บ่อขยะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ่อขยะที่มีปริมาณขยะมากที่สุดในภาคใต้ และคาดว่ามีปริมาณขยะกว่า 1 ล้านตัน โดยทาง คพ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทั้งปริมาณและชนิดของขยะเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการขยะอย่างถูกวิธีต่อไป


(ภาพ: กรมควบคุมมลพิษ)