"พ.ร.บ. แร่ แย่จริงๆ" – "ประชาชนอยู่ตรงไหน?" เครือข่ายประชาชนสะท้อน "กฎหมายแร่ฉบับใหม่" (12 ธ.ค. 59)

กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 12 ธันวาคม 2559
"พ.ร.บ. แร่... แย่จริงๆ" – "ประชาชนอยู่ตรงไหน?" เครือข่ายประชาชนสะท้อน "กฎหมายแร่ฉบับใหม่"

อัฏฐพร ฤทธิชาติ มูลนิธิบูรณะนิเวศ
รายงาน

 

"เครือข่ายประชาชน" หลายภาคร่วมชี้ ร่าง "พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่" ดีขึ้นบางส่วนและดีขึ้นเพียงเล็กน้อย หลักการสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง ประเด็นหลักไม่ถูกแก้ไข - ติงรวบรัดกระบวนการ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

11 ธันวาคม 2559: เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 109 องค์กร ได้ร่วมกันจัดงาน “ก้าวไปด้วยกัน People Go Network Forum ใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ประกอบด้วยการจัด “ตลาดนัดความรู้ของประชาชน” นิทรรศการ และเวทีเสวนาสะท้อนมุมมองของภาคประชาชนต่อประเด็นต่างๆ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา รัฐสวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม ขึ้นที่ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 10 – 11 ธันวาคม 2559

          โดยหนึ่งในประเด็นที่สังคมกำลังเฝ้าจับตามอง และได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมอย่างมากก็คือ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... หรือ “กฎหมายแร่ฉบับใหม่” ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติ (สนช.   ) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา  ซึ่งในงานครั้งนี้ก็ได้มีการเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “พ.ร.บ.แร่ ... นี่มันแย่จริงๆ”  ขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2559 โดยมีตัวแทนประชาชนจากหลากหลายกลุ่มองค์กรขึ้นเวทีร่วมวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

          เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จาก “กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา” ซึ่งเป็นผู้ติดตาม พ.ร.บ. แร่มาอย่างต่อเนื่อง ได้กล่าวให้ความเห็นว่า กฎหมายแร่ฉบับใหม่นี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้พยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขมานานเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ประมาณปี 2551 - 2552 แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในหลายรัฐบาล จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2557 ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติรับร่าง พ.ร.บ. แร่ดังกล่าว ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชน โดยตนมีความเห็นว่า สาระสำคัญหลักที่ กพร. ต้องการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแร่นั้น มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ

(1) กพร. ต้องการไมนิ่งโซน (Mining Zone) ให้เขตแหล่งแร่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอื่น เพื่อลดความยุ่งยากในการขอใช้พื้นที่ตามกฎหมายป่าไม้ กฎหมายที่ดิน สปก. หรือกฎหมายอื่นๆ  “ทำให้เกิดการเฉือนพื้นที่เขตแหล่งแร่ออกจากพื้นที่อื่นและนำเขตแหล่งแร่นั้นมาประมูลแก่เอกชนได้”

(2) กพร. ต้องการลดขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตการขอประทานบัตรให้สั้นลง โดยตาม พ.ร.บ. แร่ ปี 2510 จะใช้เวลา 310 วันจึงจะได้ประทานบัตร แต่ กพร. ต้องการลดเวลาลงเหลือ 100-150 วัน เท่านั้น  

(3) กพร. ต้องการเป็น “วันสต็อปเซอร์วิส”  (one stop service) หรือเป็นหน่วยงานเดียวในการอนุมัติอนุญาต เพื่อให้ทำเหมืองแร่ได้สะดวกขึ้น


เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (แฟ้มภาพ)
 

          อย่างไรก็ตาม เลิศศักดิ์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า  สนช. ได้ผ่านความเห็นชอบในร่าง พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่นี้โดยทำให้ความต้องการของ กพร. ไม่สมบูรณ์แบบมากนัก 

          “พ.ร.บ. ฉบับที่สนช. เห็นชอบนั้นดีขึ้นกว่าฉบับที่ ครม. เป็นผู้เสนอ กล่าวคือ  “ดีขึ้นบางส่วนและดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่จะมีเนื้อหาบางส่วนซึ่งเป็นหลักการสำคัญไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย โดยเฉพาะเนื้อหาที่เป็นประเด็นหลักๆ ไม่ได้ถูกแก้ไข และมีบทบัญญัติหลายประการที่ยังไม่ดีพอ...” เลิศศักดิ์กล่าว

          ทั้งนี้ เลิศศักดิ์ได้สรุปประเด็นสำคัญและข้อกังวลต่อ พ.ร.บ. แร่ ฉบับใหม่ ว่า

          (1) ประเด็น “ไมนิ่งโซน” แม้ พ.ร.บ. ยังคงมีมาตรา 13 ที่เปิดโอกาสให้ กพร. สามารถนำแหล่งแร่ใดๆ มาเปิดประมูลได้ แต่ยังคงมีขั้นตอนที่ต้องไปขออนุญาตใช้พื้นที่กับหน่วยงานอื่นอยู่บ้าง

          (2) มาตรา 49 ได้แบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท ขนาดพื้นที่ไม่เกินหนึ่งร้อยไร่, ไม่เกินหกร้อยยี่สิบห้าไร่ และการทำเหมืองในขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งตนเห็นว่าปัญหาก็คือ การทำเหมืองประเภทที่หนึ่งไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (EIA) และผู้ที่มีอำนาจอนุญาตคือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเทศบาลใดๆ ที่มีความสามารถเพียงพอ ซึ่งจะก่อให้เกิดการย่อยพื้นที่เพื่อทำเหมืองเป็นแปลงเล็กๆ เพื่อให้เข้าเงื่อนไขของการทำเหมืองประเภทที่ 1 ซึ่งขอกับจังหวัดได้และไม่ต้องทำรายงานอีไอเอ

          (3) มาตรา 100 และ 105 ที่ระบุว่า โรงประกอบโลหกรรมและโรงแต่งแร่ที่อยู่ในเขตประทานบัตร ไม่ต้องขออนุญาตการประกอบโลหกรรมและโรงแต่งแร่อีกต่อไป ซึ่งจากเดิม พ.ร.บ. แร่ 2510 บังคับว่า การทำเหมืองต้องขออนุญาตเพื่อให้ได้ใบอนุญาตแต่งแร่ และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมต่างหาก ดังนั้น จากเดิมในสิ้นปีนี้ที่ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จะหมดอายุลง และจะมีการปิดเหมืองทอง

          “...แต่ถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้ก็เท่ากับไม่มีการปิดเหมืองทองของอัคราฯ“

          (4) มาตรา 132 ระบุว่า กพร. สามารถนำแหล่งแร่ที่สนใจไปขอประทานบัตรและทำอีไอเอได้และสามารถนำพื้นที่ดังกล่าวไปเปิดประมูลได้ แต่เนื่องจากกระบวนการพิจารณาอีไอเอโครงการของรัฐและเอกชนมีการพิจารณาที่ต่างกัน ดังนั้น คำถามสำคัญคือ หาก กพร. นำแหล่งแร่ไปขออีไอเอ จะต้องพิจารณารายงานอีไอเอโดยขั้นตอนของโครงการของรัฐหรือของเอกชน

          (5) บทเฉพาะกาล มาตรา 188 วรรค 2 ระบุว่า บรรดาข้อผูกพันหรือสัญญาใดๆ ที่ทำไว้แล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. บังคับใช้ ให้บังคับใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา ซึ่งพบว่าสัญญาต่างๆ ในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ เช่น สัญญาเหมืองแร่ทองคำของ บริษัททุ่งคำ จำกัด จ.เลย, สัญญาเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี, สัญญาเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ สัญญาทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวนี้ทำโดย มติ ครม. ซึ่งถือว่าสัญญาภายใต้ มติ ครม. ดังกล่าว “ขัดต่อ พ.ร.บ. แร่ 2510 เนื่องจาก มติ ครม.มีลำดับของกฎหมายต่ำกว่า พ.ร.บ.   ตนจึงเห็นว่า พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดมาตรา 188 วรรค 2 เพื่อทำให้สัญญาดังกล่าวนี้ไม่เป็นโมฆะ

          “กว่า 115 ปี ที่ประเทศไทยมีกฎหมายฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่นั้น ยังมองไม่เห็นว่าประชาชนอยู่ตรงไหน” เลิศศักดิ์ตั้งคำถามทิ้งท้าย

 


          ด้าน “เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่” จาก 6 พื้นที่  ก็ได้กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับ พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่นี้เช่นกัน รวมทั้งได้ชี้ว่าประชาชนขาดการมีส่วนร่วมต่อพ.ร.บ. แร่ฉบับนี้ ตลอดจนการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง

          เอกชัย อิสระทะ จาก “สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา” จ.สงขลา ได้ให้ความเห็นว่า การให้อำนาจจังหวัดในการพิจารณาอนุญาตและต่ออายุประทานบัตร จะทำให้ก่อให้เกิดปัญหาในพื้นที่ เนื่องจากส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่มีท่าทีสนับสนุนการทำเหมือง อีกทั้งการไม่ต้องทำรายงานอีไอเอ ย่อมเป็นการตัดเครื่องมือการมีส่วนร่วม ของประชาชน

          มานพ สนิท “เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก”  กล่าวให้ความเห็นด้วยว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เป้าหมายของการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยมีการสำรวจเหมืองทองคำไปแล้ว 2-3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และสระแก้ว แต่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังไม่มีความรู้เรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองทองมากนัก ดังนั้น ถ้าเกิดเหมืองทองขึ้น ก็จะมีผลกระทบวิถีชีวิตรวมถึงกระทบต่อแหล่งต้นน้ำด้วย  อีกทั้ง พ.ร.บ. แร่ ฉบับนี้ดังกล่าวก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง

          “ขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาของชาติเองก็ไม่ได้ยึดโยงกับความต้องการของพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นสีเขียวที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาด้านเกษตรกรรม...”

          ระนอง กองแสน จาก “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” จ.เลย กล่าวให้ข้อมูลว่า เมื่อเหมืองเข้ามาผู้คนในชุมชนของตนต้องสูญเสียทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร กุ้งหอยปูปลา และความรักใคร่ในชุมชน

          “เราจึงต่อสู้มา 10 กว่าปีแล้วเพื่อบ้านเกิดของเรา และการต่อสู้ของเราก็ยังถูกคดีต่างๆ ถึง 20 คดี ซึ่งภาคราชการก็ไม่ได้เข้ามาดูแลประชาชน และถ้าเราไม่ลุกขึ้นสู้เราก็อยู่ไม่ได้  ดังนั้น ชาวบ้านจึงไม่ต้องการให้มีการขยายพื้นที่ทำเหมือง เราไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ...”

          มะลิวัลย์ จำปานิล จาก “กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว"  จ.เลย  ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินบิทูมินัส โดยปัจจุบันได้มีบริษัทเข้าไปสำรวจแร่ กล่าวให้ข้อมูลว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และหากมีการทำเหมืองก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและพื้นที่ทำกินของหมู่บ้าน เช่น ลำห้วยผุก ลำห้วยสะเอียน รวมทั้งจะส่งผลกระทบทั่วทั้งอำเภอปากชม ตนจึงเห็นว่า พ.ร.บ. แร่ฉบับนี้จะก่อให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะมาตรา 132 ที่ระบุให้ กพร. สามารถนำพื้นที่มาทำอีไอเอได้ ตนและทางกลุ่มจึงไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่

          อนันต์ วิลัยฤทธิ์ จาก “กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง” จ.พิษณุโลก ได้กล่าวให้ความเห็นว่า การทำเหมืองทองคำในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายพื้นที่เกษตรกรรม และทำลายชุมชน  ทั้งนี้ เนินมะปรางเป็นพื้นที่เป้าหมายของการขยายพื้นที่ทำเหมืองทอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเนินมะปรางไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้เก็บข้อมูลทางเศรษฐกิจของชุมชนที่เกิดจากการปลูกมะม่วงส่งออกต่างประเทศ  เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง "ทองคำบนดินที่เราประกอบอาชีพในปัจจุบัน" กับการทำเหมืองทองคำที่จะก่อให้เกิดผลกระทบ และพบว่าเศรษฐกิจของชุมชนมีความสำคัญและเป็นประโยชน์มากกว่า

          แววเงิน บัวเงิน จาก “กลุ่มรักษ์บ้านแหง”  จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่กำลังยื่นขอประทานบัตรเหมืองถ่านหิน โดยได้รับประทานบัตรแล้วจำนวน 1 แปลง และยังไม่ได้รับอีก 4 แปลง ได้กล่าวให้ความเห็นว่า

          “กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และบังคับให้ประชาชนใช้ถือเป็น  “กฎหมายเลือด” และเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงถือเป็นการติดอาวุธให้นายทุน และมองไม่เห็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน...”  แววเงินกล่าวทิ้งท้าย