ทวาย-ไซยะบุรี ชะงัก! จุดเปลี่ยน อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง (28 พ.ค. 55 )

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 28 พฤษภาคม 2555
ทวาย-ไซยะบุรี ชะงัก! จุดเปลี่ยน อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง


โดย : นเรศ เหล่าพรรณราย

ประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่ "อิตาเลียนไทย - ช.การช่าง" กำลังเผชิญ กลายเป็น "กรณีศึกษา" ของคอร์ปอเรทไทย ต่อแผนโตนอกบ้าน ถึงความไม่หมู

สองยักษ์ก่อสร้าง “อิตาเลียนไทย-ช.การช่าง” เผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อโครงการความหวังที่จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในระยะยาวอย่าง “ทวาย-ไซยะบุรี” เจอ “ตอ” เข้าอย่างจัง !! ทั้งกระแสข่าวว่าสถาบันการเงินต่างชาติลังเลที่จะปล่อยกู้โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายรวมถึงม็อบลุ่มแม่น้ำโขงที่ออกมาประท้วงจนรัฐบาลลาวต้องชะลอโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไปก่ อน หนทางที่จะแปลงสภาพตัวเองจาก “เสือหิว” ลุ้นงานประมูลปีต่อปีมาเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้อย่างยั่งยืนรวมถึงก้าวขึ้นเป็นผู้รับเหมาแถวหน้าของอาเซียนต้องเจออุปสรรคสำคัญ

หากวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสองบริษัทในปีที่ผ่านมาอย่างละเอียดจะพบว่าต่าง “ขาดทุนสุทธิ” ทั้งคู่ !! ปัจจัยหลักคือ “ต้นทุนทางการเงิน” เช่น ดอกเบี้ย ที่ใส่ลงไปในสองโครงการสำคัญนอกบ้าน โดยมีตัวช่วยพยุงฐานะการเงินคือผลกำไรจากการขายเงินลงทุน

โดยผลประกอบการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ ปี 2554 ขาดทุนสุทธิ 1,698.46 ล้านบาท เหตุผลหลักมาจากการเข้าไปลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการต่างๆ ด้าน บมจ.ช.การช่าง ปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 927.40 ล้านบาท แต่ถ้านับเฉพาะผลการดำเนินงานจริงจะขาดทุน 1,300 ล้านบาท โดยเป็นต้นทุนการเงินที่ต้องจ่าย 1,100 ล้านบาท ส่วนหนึ่งคือการใส่เงินลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นโครงการไซยะบ ุรี โดยมีกำไรสุทธิที่ได้มาจากการขายเงินลงทุนในบริษัท เซาท์อีสต์ เอเชียเอนเนอจี ให้บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ได้กำไรรวม 3,766 ล้านบาท

การเข้าไปลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นกลยุทธ์ที่สองบริษัทให้ความสำคัญมานานหลายปี โดยช.การช่างเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่าง บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) แต่เพิ่งจะลงทุนโดยตรงเมื่อไม่นานมานี้ เช่น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ล่าสุดคือโครงการไซยะบุรีมูลค่าโครงการ 76,000 ล้านบาท

ส่วนอิตาเลียนไทย เพิ่งจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง โดยมีโครงการทวายเป็นโครงการแรก ล่าสุดกำลังยื่นขอสัมปทานลงทุนในเหมืองโปแตซ จังหวัดอุดรธานีและโครงการผลิตอะลูมิเนียมในลาว

โครงการทวาย ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Dawei Special Economic Zone) โดยมอบสิทธิให้อิตาเลียนไทย เป็นผู้มีสิทธิในพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ มูลค่าโครงการ 8,600 ล้านดอลลาร์ อายุสัญญาสัมปทาน 75 ปี โดยได้เซ็นสัญญาเป็นทางการเมื่อปี 2553

ภายหลังจากนั้น ความคืบหน้าของโครงการทวายเป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งนายโคโค ฮแลง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่าต้องออกมาพูดเมื่อเร็วๆ นี้ว่าอิตาเลียนไทยผู้ได้สัมปทานไม่มีประสบการณ์ในการทำโครงการขนาดใหญ่มาก่อนและต้องการเห็นนักลงทุนต่างชาติรายอื่นเข้ามาลงทุนโดยเร็ว ทั้งนี้อิตาเลียนไทยได้ว่าจ้าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” เป็นที่ปรึกษาโครงการทั้งเรื่องแหล่งเงินกู้และจัดหาผู้ลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการท วาย

รวมถึงกระแสข่าวว่าสถาบันการเงินระดับชาติ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ลังเลที่จะปล่อยกู้โครงการทวายเนื่องจากติดปัญหาเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน

แต่ปัญหาสำคัญของโครงการนี้คือเรื่อง “เงินทุน” เนื่องจากอิตาเลียนไทยต้องเป็นผู้ลงทุนระบบสาธารณูปโภคภายใน เช่น ถนน รวมถึงจัดการย้ายผู้คนในบริเวณดังกล่าวออกไปพร้อมที่พักใหม่ ขณะเดียวกันต้องเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการแรกๆ เช่น ท่าเรือ โรงไฟฟ้า แต่ผลประกอบการหลายปีหลังของอิ ตาเลียนไทยมีทั้งกำไรและขาดทุน จึงมีปัญหาในด้านเงินทุน

ส่วนโครงการไซยะบุรี เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงรวมถึงประเทศสมาชิกอื่นต่างคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากอาจทำให้ระบบนิเวศน์โดยรอบเสียหาย จนกระทั่งรัฐบาลลาวได้ออกมาระงับโครงการดังกล่าวชั่วคราวเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งนี้บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินการธุรกิจพลังงานของ ช.การช่าง ได้เซ็นสัญญากู้เงินมูลค่า 85,000 ล้านบาท กับ 6 ธนาคารไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้ลงทุนจัดการสิ่งแวดล้อมไปแล้วเกิน 1,000 ล้านบาท

อิตาเลียนไทยได้เข้าไปบุกเบิกงานก่อสร้างในพม่าและอินเดียมายาวนานจนมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศแซงหน้าในประเทศไปแล้ว ส่วน ช.การช่างก็เข้าไปปักธงในประเทศลาวซึ่งมีวิสัยทัศน์ต้องการเป็นแหล่งผลิตพลังงานของเอเชีย


หากก้าวแรกและก้าวสำคัญของสองบริษัทยัง “สะดุด” หนทางที่จะขยายอาณาจักรในประเทศเพื่อนบ้านรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็ดูจะมืดมน

เปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ ยอมรับว่า ความเสี่ยงสำคัญของโครงการทวายในขณะนี้คือเรื่อง “เงินทุน” ในการก่อสร้าง ส่วนปัญหาเรื่องของกลุ่มน้อยในพื้นที่ (กะเหรี่ยง) ได้เซ็นสัญญาที่จะหยุดรบกันไปแล้วจึงไม่มีปัญหาอีก

ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงคือเรื่องของ “สิ่งแวดล้อม” ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ จุดนี้บริษัทได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกมาดูแลซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการจัดการของเสียเช่น น้ำ ควัน คนที่จะมาลงทุนในนี้ต่างเป็นอันดับหนึ่งของโลกในแต่ละธุรกิจทั้งนั้น อีกทั้งรัฐบาลพม่าก็มาคุมเข้มในจุดนี้ด้วย เรื่องที่ห้ามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาแล้วถ้าไม่มีการส่งมาขายในไทย ให้ใช้เฉพาะในพื้นที่ได้เท่านั้น เขาระบุ

ส่วนเรื่องการย้ายผู้คนออกจากพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว ประชาชนไม่ใช่เจ้าของที่ ปัญหาตอนนี้คือราคาที่ดินสูงขึ้น แม้จะยังย้ายผู้คนออกไปได้เล็กน้อยเท่านั้น โดยปีนี้ตั้งเป้าจะย้ายให้ได้ 50% และปีหน้าอีก 50% จากพื้นที่ทั้งหมด 10,000 ไร่

โดยในระหว่างรอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วเสร็จ จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ภายในนิคมฯ ไปก่อน โดยมีกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ บมจ.ปตท.ในการต่อท่อส่งก๊าซธรรมชาติเข้ามาใช้บริเวณนิคมฯ

โดยโครงการที่จะต้องลงทุนเฟสแรกคือโรงถลุงเหล็กพื้นที่ 12,500 ไร่ โรงไฟฟ้า 3,000 ไร่ โรงกลั่นน้ำมัน นอกจากนี้ที่ต้องทำเร่งด่วนคือถนน ความยาว 600 กิโลเมตรภายในนิคมฯ ระบบไฟฟ้าและประปา มูลค่ารวมทั้งหมด 5,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่เบื้องต้นจะลงทุนท่าเรือมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ และถนนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ก่อน โดยสามารถกู้ได้ 60% ของมูลค่าทั้งหมด โดย 3 ธนาคารใหญ่จากไทยพร้อมจะปล่อยกู้

“เรากำลังหาผู้ร่วมลงทุนอยู่อย่างโรงไฟฟ้าเราก็ได้ บมจ.ราชบุรี โฮลดิ้งที่จะมาลงทุนด้วย ท่าเรือก็จะมีพันธมิตรจากญี่ปุ่นมาร่วมถือหุ้นและเราเป็นคนจัดการ โรงถลุงเหล็กกำลังจะเซ็นสัญญาแล้วคาดว่าจะเป็นบริษัทญี่ปุ่น ส่วนโรงกลั่นอยู่ระหว่างเจรจา เบื้องต้นเราได้ลงทุนปรับพื้นที่ไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท” เปรมชัย ระบุ

ทั้งนี้พื้นที่ในนิคมฯ จำนวน 1.45 แสนไร่ จะเป็นพื้นที่ขายจริงเพียง 55% ที่เหลือจะเป็นระบบสาธารณูปโภครวมถึงที่พักคนงาน ปีนี้คาดว่าจะขายที่ดินได้ 2-3 แปลงทั้งหมด 40,000-50,000 ไร่ โดยอิตาเลียนไทยจะร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือในสัดส่วน 51%ขึ้นไปเพื่อให้มีรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการในอนาคต

เปรมชัย ยังบอกอีกว่า กลยุทธ์ของอิตาเลียนไทยจะทยอยขายพื้นที่ในนิคมฯ ให้กับผู้ลงทุนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนโครงการต่างๆ ไปเรื่อยๆ พร้อมกับหาแหล่งเงินกู้ โดยมี “แผนสอง” คือการเพิ่มทุนบริษัทซึ่งได้ขอมติผู้ถือหุ้นไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่จะนำมาใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

เป้าหมายเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นจริงเป็นจังได้ในต้น 2013 ในปี 2014 จะเริ่มขายพื้นที่ทั่วไป และจะก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดเป็นทางการได้ภายในปี 2015

“คำนวณง่ายๆ พื้นที่ในนิคมฯ ทั้งหมด 1.5 แสนไร่ ถ้าขายในราคาเดียวกับมาบตาพุดในตอนนี้ที่ 3-4 ล้านบาทต่อไร่ เราจะมีรายได้เข้ามา 300,000 ล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า รายได้เราเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่นอน” เปรมชัยเชื่อเช่นนั้น

ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง ชี้แจงว่า โครงการไซยะบุรีเป็นการสร้าง “ฝายน้ำล้น” ไม่ใช่เขื่อน ดังนั้นจะไม่มีผลต่อเส้นทางไหลของน้ำเนื่องจากไม่มีการเก็บกัก โดยการประชุมล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงก็ได้ทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป โดยต้นแบบของโครงการนี้คือโรงไฟฟ้าที่แม่น้ำดานูบในออสเตรียที่หล่อเลี้ยงผู้คนในยุโรปหลายประเทศ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนรวม ทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท จะทยอยเพิ่มทุนไปเรื่อยๆ ภายใน 8 ปีหลังจากนี้ โดยเป็นการสร้างฝายสูง 30 เมตรและแหล่งกำเนิดไฟฟ้า อายุสัญญาสัมปทาน 29 ปี มีอัตรากำไรขั้นต้น 10% และผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 12-13% ต่อปี มีกำลังผลิตทั้งหมด 1,285 เมกะวัตต์

สัดส่วนการถือหุ้น ประกอบด้วย ช.การช่างลาว 30% รัฐบาลลาว 20% ราชบุรี เอ็นเนอจี 25% บริษัทผลิตไฟฟ้า 12.5% ที่เหลือเช่น ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ทั้งนี้ ช.การช่าง เป็นผู้ได้สิทธิในการรับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าวทั้งหมด 76,000 ล้านบาท ปีนี้จะเริ่มรับรู้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 4,500 ล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างหนักๆ ในปีท้ายๆ

โดยงานก่อสร้างได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตั้งแต่สร้างที่อยู่คนงานและปรับปรุงแนวดินที่จะสร้างฝาย โดยจำเป็นที่จะต้องโยกย้ายชาวบ้านในบริเวณนั้นกว่า 3,000 คนขึ้นไปทางเหนือ โดยรัฐบาลลาวรับหน้าที่ในการสร้างที่อยู่ให้ใหม่

ปลิว ยอมรับว่า ปีที่ผ่านมามีผลดำเนินการขาดทุนเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนกับโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ไปก่อนโดยอาจจะยังไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา (เช่น รถไฟฟ้าบีเอ็มซีแอล) โดยได้ตั้งบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจด้านพลังงานโดยเฉพาะ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำและโคเจเนอเรชั่น โดยจะนำเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสสามนี้

เขายังพูดถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ช. การช่าง เตรียมตัวรับเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว อนาคตคาดว่าจะมีคู่แข่งจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซียมาทำธุรกิจในไทย แต่บริษัทได้ขยายงานออกไปต่างประเทศได้ระยะหนึ่งแล้ว และมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ บริษัทไทยมีฝีมือที่ดีและประเทศรอบบ้านไทยต่างต้องการโครงสร้างพื้นฐานอีกมากจึงเป็นโอกาสที่ ช.การช่างจะขยายงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศลาวที่มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกนับ 10 โครงการ เท่าที่ทราบมามีมูลค่าถึง 127,000 ล้านบาท

“เราหาทางสร้างความมั่นคงในแง่รายได้มากว่า 20 ปีแล้ว ถ้าเราสามารถเข้าไปเป็นผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ ทั้งเงินปันผลและมูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เรามีกำไรที่เติบโตยั่งยืนและมั่นคงในอนาคต” ปลิว กล่าวก่อนที่จะรู้ว่าโครงการไซย ะบุรีถูกรัฐบาลระงับโครงการไว้ชั่วคราว


----------------------------------------


เบื้องหลังนายกฯเยือนญี่ปุ่นช่วยโครงการทวาย

 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปประชุมผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเมื่อวันที่ 20-21 เมษายนที่ผ่านมา ณ ประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งของการเจรจาคือการจัดตั้ง "หน่วยงานกลาง" ระหว่าง 3 ประเทศคือไทย พม่าและญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนด้านเทคนิคและการเงินให้กับโครงการทวายโดยเฉพาะ เป็นผลต่อเนื่องจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมยกหนี้บางส่วนให้กับพม่า

โดยหน่วยงานดังกล่าวจะเข้าไปตรวจสอบและดูแลการก่อสร้างโครงการทวายเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ธนาคารระหว่างประเทศ  เช่น เวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก)  ไจกา (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) เอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ยอมรับและปล่อยเงินกู้ให้ ซึ่งอิตาเลียนไทยกำลังต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อนำมาลงทุนก่อสร้างถนนและท่าเรือในนิคมฯ

“เท่าที่นายกฯไปพูดคุยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เขาค่อนข้างจะยินดีที่จะสนับสนุนโครงการทวายเนื่องจากอยู่ใน โครงการของกลุ่มประเทศ GMS (Greater Mekhong Subregion)  6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ (ยูนนาน) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนต่อเนื่องอยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

สิ่งที่รัฐบาลพม่าจะได้จากโครงการทวาย คือการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการที่จะมีแรงงานอยู่ภายในทว ายกว่า 1 ล้านคน จึงสามารถเก็บภาษีและการถ่ายทอดทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงได้ค่าสัมปทานจากอิตาเลี ยนไทยที่จะต้องจ่ายปีละ 35 ล้านดอลลาร์

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน มีมติที่จะเสนอให้รัฐบาลยกระดับโครงการทวายเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง รัฐบาลพม่ากับรัฐบาลไทย (จีทูจี) จากเดิมที่โครงการดังกล่าวเป็นสัมปทานของอิตาเลี่ยนไทย กับรัฐบาลพม่า


------------------------------------------

โบรกเกอร์ไม่ไว้ใจหุ้น ITD-CK

ด้านความเห็นจากนักวิเคราะห์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับโครงการทว ายและไซยะบุรีลงไปในตัวหุ้น ITD และ CK มากนัก เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงรวมถึงสถานะการเงินยังอ่อนแอ

ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยไม่เคยใส่ผลกระทบจากโครงการไซยะบุรีลงไปในแนวโน้มผลประกอบการของ ช.การช่ างอยู่แล้วเนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่มีความแน่นอนสูง เห็นได้จากราคาหุ้น CK ไม่ได้ขึ้นรับข่าวโครงการไซยะบุ รีเท่าไรเพราะตลาดไม่มีความคาดหวังกับโครงการนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปีนี้ผลการดำเนินงานของช.การช่างจะสามารถพลิกมีกำไรได้

ทางด้านอิตาเลียนไทย ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ “ขาย” มาโดยตลอดเพราะเป็นไตรมาสที่ 11 แล้วที่ผลประกอบการขาดทุน โดยไม่เชื่อว่าโครงการทวายจะส่งผลดีต่ออิตาเลียนไทย เนื่องจากสถานะการเงินไม่ดีมีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงแม้จะมี Backlog เยอะแต่ก็ไม่มีกำไร

สิ่งที่จำเป็นต่ออิตาเลียนไทยอย่างมากคือการปรับโครงสร้างต้นทุนการเงิน คาดว่าการเพิ่มทุนแบบ General Mandate (การออกและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป) จำนวน 7,000 ล้านบาทถ้าหากเพิ่มทุนได้ครับก็ยังไม่พอที่จะพยุงสถานะการเงินอยู่ดี ดังนั้นโบรกเกอร์จึงไม่ได้ใส่เรื่องของทวายลงไปในตัวหุ้น ITD