ศาลปกครองสูงสุดสั่งจ่ายค่าปรับถมทะเลมาบตาพุด (12 มี.ค. 55)

ศาลปกครองสูงสุดสั่งจ่ายค่าปรับถมทะเลมาบตาพุด (12 มี.ค. 55)
ศาลปค.สูงสุดสั่งจ่ายค่าปรับถมทะเลมาบตาพุด

ศาลปกครองสูงสุดสั่งกนอ.จ่ายค่าปรับกรณีถมทะเลสร้างท่าเรือมาบตาพุดภายใน90วันหากไม่ทำเพิกถอนใบอนุญาต

ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีคำสั่งเรียกให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย(กนอ.) ชำระค่าปรับกรณีกระทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำด้วยการถมทะเลเพื่อก่อสร้างโครงการท่า เรือมาบตาพุด ระยะที่ 2 ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาดังกล่าวให้เพิกถอนใบอนุญาต
          
"พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องคำขอของฟ้องคดีที่ขอให้ เพิกถอนใบอนุญาตเลขที่ 32/2545 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยการถมทะเลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 2 เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชำระค่าปรับให้ถูกต้องตามมาตรา 118  ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2546 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาดังกล่าวให้เพิกถอนใบอนุญาตเลขที่ 32/2545 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 โดยให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา" คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุ
          
คดีนี้ พล.ต.เทอดชัย อภิชัยสิริ ร่วมกับ พ.อ.นพนันท์ มุตตามระ, น.ท.ประสานจิตร สุจรรทวี และ พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ยื่นฟ้องอธิบดีกรมเจ้าท่า และ กนอ.ว่า กนอ.ได้ขออนุญาตเพื่อถมทะเลตามโครงการดังกล่าว โดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ดำเนินการก่อนได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า และไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดหลายประการ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงได้ร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มีคำวินิจฉัยที่ 108/2552 ว่า การถมทะเลของ กนอ.เป็นความผิดเนื่องจากกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าสั่งให้ กนอ.หยุดการถมทะเลไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะได้มีการอนุญาตทำสิ่งล่วง ล้ำลำน้ำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กรมเจ้าท่ากลับออกใบอนุญาตเลขที่ 32/2545 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 อนุญาตให้ กนอ.ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำด้วยการถมทะเลตามโครงการก่อสร้างท่าเรือ อุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ กนอ.ถมทะเลไปแล้ว ทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ตั้งอยู่บริเวณหาดทรายทองติดกับโครงการ ก่อสร้างท่าเรือของ กนอ.ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย 
          
ต่อมาศาลปกครองศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การถมทะเลตามโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 2 กนอ.ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขของคณะกรรมการผู้ชำนาญการโดยพิจารณารายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมถูกต้องครบถ้วนแล้ว  และได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมเจ้าท่ากำหนดตามกฎหมายแล้ว การที่กรมเจ้าท่าออกใบอนุญาตดังกล่าวให้ กนอ.ถมทะเลตามโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และมีคำพิพากษายกฟ้อง
          
ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงยื่นอุทธรณ์ว่า กรมเจ้าท่าปล่อยปละละเลยให้ กนอ.ได้ดำเนินการถมทะเลตามโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาบพุด ระยะที่ 2 เสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2542 ซึ่งเวลาดังกล่าวเป็นเวลาก่อนที่กรมเจ้าท่า ออกใบอนุญาต จึงเป็นการออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อการออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้กระทำมาเป็นเวลานานแล้ว และกนอ.ก็ได้ดำเนินการตามใบอนุญาตนั้นจนเสร็จสิ้นแล้ว หากศาลมีคำบังคับให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวก็จะมีผลให้ กนอ.ต้องดำเนินการ เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมรวมถึงการรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้งหมด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตามมาจากการรื้อถอน และระบบการลงทุนที่ได้ดำเนินการมาโดยต่อเนื่องตลอดมา รวมถึงจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 
          
แต่การที่กรมเจ้าท่าได้ใช้อำนาจออกใบอนุญาตตามมาตรา 118 ทวิ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2546 แล้ว กนอ.จึงต้องชำระค่าปรับตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด และดำเนินการแก้ไขทันที ตลอดจนปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมเจ้าท่าและสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวด ล้อมอย่างเคร่งครัด และหากกระทำเพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นตามมา กนอ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายนั้น
           
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็น ไปตามคำพิพากษาด้วยว่า เมื่อการก่อสร้างตามโครงการนี้เป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวง กว้าง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดแนบท้ายใบอนุญาต ดังนั้นกรมเจ้าท่าจึงสมควรเร่งรัดติดตามตรวจสอบว่า กนอ.ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบและติดตามตรวจ สอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 
          
รวมถึงมาตรการการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและมาตรการติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง โดยจัดทำแนวป้องกันการพังทลายของชายฝั่งและดูแลปรับปรุงซ่อมแซมให้มีความ มั่นคงแข็งแรง ปรับสภาพพื้นที่ด้านหลังและป้องกันเขื่อนหินเรียงสองฝั่งถนนเลียบชายหาดที่ เสียหายจากการกัดเซาะจากการถมทะเลตามโครงการให้มีระดับพื้นที่ใกล้เคียงกับ ระดับพื้นที่เดิม หาก กนอ.ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวก็เป็นเหตุที่กรมเจ้าท่าอาจพิจารณาเพิก ถอนใบอนุญาต หรือดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ได้