5 หมู่บ้านอันตรายนรกบ่อขยะ สารพิษซัลเฟอร์ออกไซด์เหม็นคลุ้งเกินมาตราฐาน (20 มี.ค. 57)

บ้านเมืองออนไลน์  20 มีนาคม พ.ศ. 2557
5 หมู่บ้านอันตรายนรกบ่อขยะ สารพิษซัลเฟอร์ออกไซด์เหม็นคลุ้งเกินมาตราฐาน

นรกบ่อขยะแพรกษา เมืองปากน้ำยังอันตราย สธ.เร่งอพยพชาวบ้าน 5 หมู่บ้านในเขต อ.เมืองสมุทรปราการ และ อ.บางพลีออกนอกพื้นที่ หลังสำรวจพบสารพิษจากบ่อขยะสูงถึง 5 ppm เสี่ยงเป็นมะร็ง เตือน เด็ก สตรีมีครรภ์และคนแก่อันตราย พบแล้วเด็กชายวัย 1 ขวบป่วยปอดอักเสบจากควันพิษ ชี้สารพิษอันตราย 4 ตัวจากไฟไหม้บ่อขยะ DSI โดดรับเป็นคดีพิเศษ ขณะที่ คพ.เผยมลพิษปี 56 คนไทยผลิตขยะกว่า 26 ล้านตัน เทียบตึกใบหยกเรียงกัน 140 ตึก ตะลึงบ่อขยะไร้มาตรฐานกว่า 2 พันแห่ง ด้าน จ.สงขลา ครองแชมป์จังหวัดสกปรกขยะล้นเมือง

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มี.ค. เกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะกว่า 150 ไร่ ที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ และขณะนี้ควบคุมเพลิงได้เกือบทั้งหมด แต่เหลือเพียงบางส่วนที่อาจจะยังมีการปะทุขึ้นมา ต้องใช้รถเข้าไปตักขยะที่ปะทุขึ้นมาและฉีดน้ำดับ ส่วนบริเวณรอบๆ ยังมีการฉีดน้ำเลี้ยงไว้ตลอดเวลา รวมทั้งใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำมาโปรยลงตรงบริเวณกลางบ่อขยะ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเพลิงไหม้ แต่ยังมีกลุ่มควันสีขาวลอยเป็นวงกว้างและมีกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่โดยรอบ มีชาวบ้านหมู่ 4 และหมู่ 6 รวม 3 ชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากหมอกควันดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น


สสจ.เผยพื้นที่ 5 หมู่บ้านอันตราย

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.57 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรปราการ น.พ.นำพล แดนพิพัฒน์ รองนายแพทย์ สสจ.สมุทรปราการ ในฐานะผู้บัญชาการวอร์รูมไฟไหม้บ่อขยะซอยแพรกษา จ.สมุทรปราการ เปิดเผยความคืบหน้าว่า ขณะนี้การกระจายของควันและสารพิษ มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยบานขึ้นไปทางเหนือ เนื่องจากลมทะเลพัดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ทำให้ฝุ่น ควันและสารพิษกระจายตัวออกไป ซึ่งจากการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษพบว่า 1.พื้นที่ในบ่อขยะมีคาร์บอนมอนอกไซด์สูงถึง 175 ppm 2.พื้นที่รัศมีรอบบ่อขยะระยะ 200 เมตร มีคาร์บอนมอนอกไซด์ 10-15 ppm ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 10-12 ppm 3.ในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร มีค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 5-8 ppm ซึ่งภายในรัศมีดังกล่าวถือว่าเป็นโซนสีแดง จะต้องอพยพชาวบ้านออกทั้งหมด แต่ปัญหาที่พบคือประชาชนแทบทั้งหมดยังไม่ยอมย้ายออก ซึ่งมีหมู่บ้านในรัศมีดังกล่าว 2 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านธันยพรและหมู่บ้านสหกรณ์ 4.พื้นที่รัศมี 2 กิโลเมตร มีค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2-4 ppm จัดเป็นพื้นที่สีเหลือง บุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัวต้องย้ายออก สำหรับพื้นที่ในรัศมีนี้มี 3 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านเนเชอรา หมู่บ้านศุภาลัย และหมู่บ้านปัญฐิญา 5.พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งจัดเป็นพื้นที่สีเขียว

“ปัญหาที่น่าห่วงคือยังมีประชาชนนับหมื่นที่ยังไม่ยอมอพยพออก และสิ่งที่น่ากังวลนอกจากนี้คือ หากกระแสลมมีการพัดเปลี่ยนทิศทาง โดยพัดลงมาทางใต้บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีชุมชนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น ส่วนศูนย์อพยพเห็นว่าอาจต้องเปลี่ยนที่ เพราะควันและสารพิษอาจลอยไปบริเวณดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการตรวจวัดมลพิษในอากาศอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายปกครอง” น.พ.นำพล กล่าว

สธ.นัดตรวจสุขภาพกลุ่มเสี่ยงมะเร็ง

ทางด้าน น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเฝ้าระวังดูแลสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับการสัมผัส แบ่งเป็น 1.กลุ่มเสี่ยงสูงสุดที่มีการสัมผัสรุนแรง เช่น นักผจญเพลิง ผู้สื่อข่าว วินมอเตอร์ไซค์ อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ใกล้บ่อขยะ และทหาร ซึ่งคาดว่ามีประมาณกว่า 500 คน โดยภายในสัปดาห์นี้จะเริ่มนัดให้มาตรวจสุขภาพที่ รพ.สมุทรปราการ ทุกคน ซึ่งจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียด ด้วยการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด สมรรถภาพปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาสารก่อมะเร็งต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2.กลุ่มปานกลาง คือประชาชนที่อยู่ในรัศมีรอบๆ บ่อขยะ 200 เมตร ก็มีแนวทางตรวจสุขภาพเบื้องต้น และ 3.กลุ่มนอกพื้นที่ 200 เมตรขึ้นไป จะมีการซักประวัติคัดกรองความเสี่ยง

“สำหรับการให้บริการเฉพาะหน้า ขณะนี้มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 จุดคือที่ อบต.แพรกษา ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งศูนย์อพยพและวัดแพรกษา โดยสิ่งที่จะเพิ่มเติมจากการบริการตรวจรักษาคือ มีทีมสุขภาพจิตดูแลประชาชนด้วย รวมถึงมีทีมเข้าไปประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คำแนะนำประชาชนในพื้นที่ที่ยังไม่อพยพ แบบเคาะประตูบ้าน เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่ยอมอพยพ โดยจะอธิบายให้เข้าใจถึงอันตรายของสารพิษต่างๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ทางเดินหายใจ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุผู้ที่มีโรคประจำตัว ถ้าหากไม่ย้ายออกจะเกิดอันตรายได้ง่ายกว่าคนปกติ สำหรับการตรวจสภาพอากาศของศูนย์อพยพขณะนี้ยังคงปลอดภัย แต่ยังต้องคอยเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง”นพ.ณรงค์ กล่าว

หามคนงาน-ชาวบ้านนับสิบส่ง รพ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าจากสถานการณ์ไฟไหม้บ่อขยะของเอกชนในซอยแพรกษา 8 ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พบว่ามีกลุ่มควันสีขาวหนาทึบ ลอยต่ำปกคุมกระจายเข้าสู่พื้นที่ชุมชนที่อยู่ด้านทิศใต้ รอบๆ บ่อระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร จนหลายหมู่บ้านได้รับผลกระทบ นอกจากจากนี้ยังทำให้คนงานในโรงงานผลิตน็อต บริษัท ที.เอ.พี.สแตนดาร์ด จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในซอยพุฒศรี ถนนพุฒโยธา ต.แพรกษา จำนวนนับ 10 ราย สำลักควันไฟ ต้องประสานให้รถกู้ชีพสมุทรปราการเข้าไปรับตัวส่ง รพ. ส่วนที่ อบต.แพรกษา ก็มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากควันไฟ มาลงทะเบียนเพื่อรักษาตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนชราที่อยู่กับบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต.แพรกษา และ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ มาให้บริการหยอดตา และแจกผ้าคลุมจมูก รวมทั้งอบรมชาวบ้านในการดูแลตนเอง หากได้รับผลกระทบจากควันไฟ


พบเด็ก 1 ขวบป่วยปอดอักเสบ

ด้าน น.ส.กิตติยา สุขแก้ว ที่พาลูกชายมาตรวจรักษาที่ รพ.สมุทรปราการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากควันไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา กล่าวว่า บ้านตนอยู่ห่างจากบ่อขยะแพรกษา 1 กิโลเมตร เมื่อ 2 วันก่อนที่มีควันไฟฟุ้งกระจาย ทำให้ลูกชายอายุ 1 ขวบ ที่มีโรคประจำตัวหลอดลมอักเสบ เริ่มมีอาการหอบและวันนี้หอบมากขึ้น จนเหนื่อย และนอนไม่ได้ จึงพาลูกชายมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจพบปอดอักเสบจึงให้ออกซิเจนและให้พักรักษาในโรงพยาบาล


อันตรายสารพิษ 4 ตัว จากเผาบ่อขยะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสารพิษที่พบ 4 ตัว ที่เกิดมาจากการเผาบ่อขยะมี คาร์บอนมอนอกไซด์, คาร์บอนไดออกไซด์, ซัลเฟอร์ไอออกไซด์ และฟอร์มาดีไฮด์ ที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องความเจ็บป่วย จากอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ที่อันตรายถึงข้นหมดสติและทำให้เสียชีวิตได้ หากได้รับสารดังกล่าวในปริมาณมากๆ หรืออาการระคายเคืองทางผิวหนัง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคืออันตรายต่อดวงตา เพราะสารทั้ง 4 ตัว มีคุณลักษณะเป็นกรดและด่าง หากทำปฏิกิริยากับน้ำตานานๆ จะทำให้เกิดอาการเยื่อบุตาขาวอักเสบจากสารเคมีได้ ที่สำคัญขณะนี้อากาศกำลังแห้ง ทำให้น้ำตาแห้ง ความเข้มข้นของกรด-ด่างจึงสูงขึ้น ดวงตาจึงระคายเคือง อักเสบ แสบและแดงได้ง่ายกว่ามาก และนานกว่าช่วงที่อากาศชุ่มชื้น


ใช้ดาวเทียมตรวจสอบแนวควันไฟ

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือจีสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำภาพจากดาวเทียมไทยโชต บริเวณ ต.แพรกษา จ.สมุทรปราการ ที่บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ 18 มี.ค.57 เวลา 10.04 น. จากภาพจะเห็นจุดที่เกิดเพลิงไหม้ได้ชัดเจน และมีแนวควันพุ่งไปทางทิศเหนือยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งจากภาพจะปรากฏเห็นกลุ่มควันที่เกิดจากการเผาบ่อขยะลอยปกคลุมในบริเวณ อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี และมีทิศทางมุ่งหน้าเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งควันยังลอยปกคลุมในเขต กทม. คือ เขตลาดกระบัง และเขตประเวศ อีกด้วย ดังนั้นประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการสูดควัน โดยการใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก หากมีอาการแสบคอ แสบตา แน่นอก ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ส่วนข้อมูลภาพจากดาวเทียมไทยโชต สามารถนำไปเป็นข้อมูลสำคัญเบื้องต้น เพื่อใช้ประกอบการคาดการณ์และประเมินพื้นที่ ที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะ เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนช่วยเหลือชุมชนในบริเวณที่เกิดเหตุ ตลอดจนการเยียวยาประชาชนในพื้นที่ต่อไป


สุวรรณภูมิคุมเข้มหวั่นผลกระทบการบิน

นางสุวรรณา นาถประชา รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายสนับสนุนธุรกิจ) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้ดำเนินการประสานงานและเตรียมมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินอากาศร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ไว้แล้ว หากเกิดผลกระทบต่อเส้นทางการบิน โดยทาง บวท. แจ้งว่ากลุ่มควันดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการด้านการจราจรทางอากาศภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแต่อย่างใด ทั้งนี้ ทสภ.และ บวท.จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

“ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมา สำนักอุตุนิยมวิทยาการบิน ทสภ.กรมอุตุนิยมวิทยา จะทำการแจ้งเตือนหน่วยงานต่างๆ ภายใน ทสภ. เพื่อทราบ และให้มีการปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่กำหนด ทั้งนี้หากเกิดเหตุการณ์มีทัศนวิสัยที่ต่ำมากจนเครื่องบินไม่สามารถทำการขึ้น-ลงของเที่ยวบินได้ ทาง บวท.จะออกประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการบินทราบ เพื่อให้ประสานแจ้งกับนักบินใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังท่าอากาศยานสำรองตามความเหมาะสมจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้อาจมีกลุ่มควันลอยตามกระแสลมเข้ามาในพื้นพี่ ทสภ.บ้างแต่เป็นบางเวลา ซึ่งอาจส่งกลิ่นและฝุ่นควัน ทสภ. จึงใคร่ขอแนะนำให้ผู้ใช้บริการสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นควันในขณะที่อยู่ภายนอกอาคารด้วย นอกจากนี้ ทสภ.ยังได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านการดูแลป้องกันสุขภาพของพนักงานและผู้ปฏิบัติงานใน ทสภ. โดยมีการจัดเตรียมหน้ากากป้องกันสำรองไว้ใช้ในกรณีจำเป็นอีกด้วย”นางสุวรรณา กล่าว

 
DSI เก็บหลักฐานรับเป็นคดีพิเศษ

ด้านนายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการบริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI กล่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายได้ร่วมกับ ดร.สุรพล ชามารถ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อขยะที่เกิดเพลิงลุกไหม้ เพื่อตรวจหาและเก็บข้อมูลหลักฐานที่เป็นกากและวัสดุต่างๆ ที่โรงงานอุตสาหกรรมนำมาทิ้ง เพื่อนำไปประกอบสำนวนคดีเตรียมเอาผิดดำเนินคดีกับเจ้าของบ่อขยะ โดย DSIจะรับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากกากและวัสดุบางชนิดที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นวัสดุต้องห้ามนำไปทิ้งในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุอันตราย ซึ่งกากและวัสดุต่างๆ ที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม หากมีการนำนำไปทิ้ง เมื่อเกิดเพลิงไหม้ กากและวัสดุต้องห้ามจะเกิดปฏิกิริยาจะก่อเกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน เบื้องต้นพบหลักฐานที่เป็นกากและวัสดุจากโรงงานอุตสาหกรรมวางทับถมกองเป็นจำนวนมาก ส่วนเรื่องคดีไฟไหม้บ่อขยะคงเป็นหน้าที่ตำรวจเจ้าของพื้นที่เป็นผู้ดำเนินคดีกับเจ้าของบ่อขยะ โดยทาง DSI จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง


คพ.เผยปี 56 มีขยะกว่า 26 ล้านตัน

วันเดียวกัน ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดี คพ. แถลงสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2556 ว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยถือเป็นปัญหาวิกฤตอันดับหนึ่งของประเทศไทย และมีปัญหาในการจัดการอย่างมาก โดยพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ มีจำนวน 26.77 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับตึกใบหยก 2 ที่สูงจากพื้นดิน 304 ม. จำนวน 140 ตึก ซึ่งขยะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 2 ล้านตัน โดยขยะมูลฝอยดังกล่าวได้รับการให้บริการเก็บขนและนำไปกำจัดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 4,179 แห่ง (ร้อยละ 54) มีขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดแบบถูกต้อง จำนวน 7.2 ล้านตัน (ร้อยละ 27) กำจัดแบบไม่ถูกต้อง 6.9 ล้านตัน (ร้อยละ 26) มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่ได้รับการเก็บขนทำให้ตกค้างในพื้นที่อยู่ถึง 7.6 ล้านตัน (ร้อยละ 28) และมีขยะที่ถูกดึงนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 5.1 ล้านตัน (ร้อยละ 19 )


บ่อขยะไร้มาตรฐานกว่า 2 พันแห่ง

ขณะนี้ทั้งประเทศมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ทั้งหมด 2,490 แห่ง เป็นสถานที่ที่มีการกำจัดขยะแบบถูกต้องเพียง 466 แห่ง (ร้อยละ 19) และยังคงมีการกำจัดขยะแบบไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง การเผาในที่โล่ง ลักษณะเดียวกับบ่อขยะแพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการอยู่ถึง 2,024 แห่ง (ร้อยละ 81) ซึ่งเหมือนกับระเบิดที่รอการปะทุ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าขยะสะสมทั้งประเทศมีจำนวนสูงถึง 19.9 ล้านตัน เท่ากับนำตึกใบหยก 2 จำนวน 103 ตึกมาเรียงต่อกันซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ คพ.ต้องเร่งแก้ไข


สงขลา” ครองแชมป์ขยะล้นเมือง

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่ได้รับการเก็บขน กำจัดไม่ถูกต้อง และขยะมูลฝอยสะสมทำให้แต่ละจังหวัดเกิดวิกฤติปัญหาในเรื่องของขยะ โดยจังหวัดที่นับได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีวิกฤติปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย หรือจังหวัดสกปรก 20 อันดับแรก ได้แก่ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ราชบุรี เพชรบุรี แพร่ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระนอง นครพนม ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด ลพบุรี อ่างทอง ขอนแก่น บุรีรัมย์ และชุมพร ส่วนจังหวัดที่มีวิกฤติปัญหาขยะสะสม 20 อันดับแรก คือ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี นครราชสีมา ลำปาง แพร่ ลพบุรี ชัยนาท นครปฐม เพชรบูรณ์ และระนอง ขณะที่จังหวัดที่มีการสะสมของขยะมูลฝอยน้อยหรือจังหวัดสะอาดได้แก่ กทม. นนทบุรี และภูเก็ต ในการแก้ปัญหา คพ.ต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3Rs ให้เกิดการคัดแยกและนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล ซึ่งในปี 56 มีทั้งหมด 5.1 ล้านตัน (ร้อยละ 19) ซึ่งยังน้อยมากรวมทั้งเน้นในเรื่องของการลดปริมาณการเกิดขยะเป็นจุดสำคัญซึ่งอัตราการผลิตขยะต่อคนต่อวัน ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 51 เท่ากับ 1.03 กก.ต่อคนต่อวัน มาเป็น 1.15 กก.ต่อคนต่อวันในปัจจุบัน

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ในส่วนของเสียอันตรายเกิดขึ้นทั่วประเทศ 2.65 ล้านตัน โดยร้อยละ 77 หรือ 2.04 ล้านตันเป็นของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 23 หรือ 0.61 ล้านตัน มาจากชุมชน ทั้งนี้ของเสียอันตรายเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออก รองลงไปเกิดขึ้นใน กทม.และปริมณฑล ภาคกลาง แม้มีกฎหมายควบคุมแต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยังพบการลักลอบทิ้งกากของเสียในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ สำหรับของเสียอันตรายจากชุมชนร้อยละ 65 เป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประเภทโทรทัศน์ (ร้อยละ 27) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 57-58 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์ดิจิตอล เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 19) ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูปอีกร้อยละ 35 ในส่วนขยะมูลฝอยติดเชื้อ เกิดขึ้นประมาณ 50,481 ตัน โดยการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อร้อยละ 75 ดำเนินการโดยสถานบริการสาธารณสุขขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามสถานบริการขนาดเล็ก เช่น คลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสถานีอนามัย และสถานพยาบาลสัตว์ ร้อยละ 25 ยังมีข้อจำกัดในการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่ง คพ.ต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการขยะเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและผลักดันให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ

นายวิเชียร กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอากาศและน้ำในปี 56 พื้นที่วิกฤติด้านคุณภาพอากาศมี 4 พื้นที่คือ 1.ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี มีปัญหาฝุ่นละอองสูงสุดในประเทศ 2.ต.มาบตาพุด จ.ระยอง ปัญหาหลักคือพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ได้แก่ เบนซีน 1,3 บิวทาไดอีน และ 1,2 ไดคลอโรอีเทนเกินค่ามาตรฐาน โดยปัญหาหลักเกิดจากการระบายจากภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การผลิตปกติแต่เป็นการปิดปรับปรุง หรือการซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องจักรและการเริ่มเดินระบบรวมทั้งกิจกรรมในท่าเรือ 3.กทม.และปริมณฑล ยังพบฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซโอโซนและสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินค่ามาตรฐาน โดยในปี 56 ปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าภาคอื่นเนื่องจากการคมนาคมขนส่ง ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรถยนต์คันแรก และ 4.ภาคเหนือตอนบนพบวิกฤติหมอกควันระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี ทั้งนี้สารมลพิษทางอากาศ ซึ่ง คพ.ต้องเฝ้าระวังคือ1.ฝุ่นละออง 2.ก๊าซโอโซน และ 3.สารอินทรีย์ระเหยง่าย