เตือนบ่อขยะเสี่ยงยุบตัว หลังไฟไหม้หลายวัน จี้บำบัดน้ำเสียจากการดับเพลิง (21 มี.ค. 57)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 มีนาคม 2557
เตือนบ่อขยะเสี่ยงยุบตัว หลังไฟไหม้หลายวัน จี้บำบัดน้ำเสียจากการดับเพลิง

       นักวิชาการจุฬาฯ ห่วงโครงสร้างบ่อขยะอ่อนตัว แนะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ตรวจสอบและระมัดระวัง ชี้น้ำที่นำมาดับเพลิงเป็นน้ำเสียที่ต้องบำบัด แนะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สวมอุปกรณ์ป้องกัน อยู่ในบริเวณต้นลมและแยกซักชุดที่ใส่ลงพื้นที่บ่อขยะออกจากเสื้อผ้าอื่นๆ เหตุอาจปนเปื้อนสารเคมี

       วันนี้ (21 มี.ค.) ที่ห้องประชุมอาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการแถลงข่าวเรื่องปัญหาบ่อขยะ ภัยใกล้ตัว จากกรณีไฟไหม้บ่อขยะ ที่ ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สุมทรปราการ โดย นายพิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังจากที่ใช้น้ำจำนวนมากในการดับเพลิง สิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาคือ น้ำที่ใช้ในการดับเพลิงจะเป็นน้ำเสียที่ต้องนำมาบำบัด และการที่เกิดการลุกไหม้เป็นเวลานาน อาจทำให้โครงสร้างของบ่อขยะอ่อนตัวและเกิดยุบตัวได้ อยากให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่จะเข้าไปสำรวจระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย หรือใช้อุปกรณ์สำรวจโครงสร้างบ่อขยะด้านล่างก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ เรายังไม่ทราบว่าภายใต้กองขยะที่สูงนั้น ยังมีการลุกไหม้อยู่ภายในหรือไม่ เพราะต่างประเทศเคยเกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะนานนับเดือน ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยตรวจสอบได้คือ ต้องตรวจสอบว่ามีก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ในอากาศหรือไม่ เพราะเป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ขณะเดียวกัน ต้องตรวจสอบอุณหภูมิบ่อขยะด้วย หากไฟดับแล้วอุณหภูมิควรเท่ากับอุณหภูมิปกติโดยรอบ หากอุณหภูมิร้อนผิดปกติ ให้สงสัยไว้ก่อนว่ายังเกิดไฟไหม้อยู่ใต้กองขยะ

       นายชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยบำบัดของเสีย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า น้ำชะมูลฝอยที่ขังอยู่ในบ่อขยะ ควรสูบออกมาเพื่อบำบัด และเนื่องจากบ่อขยะที่เกิดเหตุนี้เป็นบ่อดิน ที่สร้างไม่ถูกหลักวิธี ไม่มีการปูผ้าพลาสติกไว้ใต้บ่อขยะ ดังนั้นน้ำชะมูลฝอยในบ่อขยะ รวมทั้งน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงซึ่งกลายเป็นน้ำเสียจะซึมลงปนเปื้อนดิน จึงต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน รวมถึงแหล่งน้ำข้างเคียงที่เกิดเหตุด้วย

       “ภาพรวมของประเทศเรามีปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งควรมีการผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมรีไซเคิล โดยนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด และผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรากำลังเข้าสู่ทีวีดิจิตอล จะทำให้โทรทัศน์รุ่นเก่าซึ่งถือเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีจำนวนขยะมหาศาล แต่เรายังไม่มีแนวทางกำจัดที่ถูกต้อง” นายชวลิต กล่าว

       ขณะที่ นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงผลกระทบด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้สื่อข่าว ควรสวมชุดป้องกันตน อีกทั้งเวลาปฏิบัติงานควรอยู่ต้นลม เมื่อหยุดปฏิบัติหน้าที่ต้องถอดชุดที่ใส่และล้างตัว ซึ่งชุดที่ปนเปื้อนแล้วถือเป็นของเสียอันตราย ไม่ควรนำกลับบ้าน และควรแยกซักจากเสื้อผ้าอื่น ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ทางที่ดีที่สุดคือ ควรอพยพจากพื้นที่ แต่หากจำเป็นต้องอยู่เพื่อรอการช่วยเหลือ ควรปิดประตูหน้าต่าง อุดรูให้หมด เพื่อไม่ให้อากาศเสียภายนอกเข้ามาในบ้าน ที่สำคัญ ไม่ควรเปิดแอร์ เพราะเครื่องจะดูดอากาศเสียภายนอกเข้ามาได้ นอกจากนี้ ควรงดบริโภคน้ำ พืช สัตว์ จากพื้นที่ดังกล่าว